วัดปราสาทเป็นวัดที่มีความเป็นมาทางประวัติศาสตร์อย่างยาวนานและมีคุณค่าทางสถาปัตยกรรมซึ่งสร้างขึ้นโดยฝีมือเชิงช่างชั้นสูง โดยเฉพาะหลวงพ่อพระประธานที่ประดิษฐานภายในซุ้มปราสาทแบบล้านนาโบราณ ที่หลงเหลืออยู่ไม่กี่แห่งในปัจจุบัน ที่ตั้งอยู่ตอนท้ายของพระวิหารนั้น เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัยสีขาว ที่มีพระพักตร์อิ่มเอิบน่าเลื่อมใสศรัทธา และเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ที่อยู่คู่กับวัดนี้มานานหลายสมัย และเชื่อกันว่าองค์พระประธานนี้มีความเก่าแก่ หากใครได้เข้ามาสักการะ ขอพรจากองค์พระประธาน ในซุ้มปราสาทแห่งนี้ จะรู้สึกถึงความศักดิ์สิทธิ์และ ความเงียบสงบราวกับมีมนต์ขลัง นอกจากนี้วัดปราสาท ยังมีประตูซุ้มโขงที่เชื่อมเข้าสู่ องค์ปราสาท โดยมีลักษณะคล้ายกับเจดีย์หรือที่เรียกว่ากู่พระเจ้าที่หาชมได้ยากยิ่ง สำหรับประวัติของวัดนี้ ตามหลักฐานที่ปรากฏในหลักศิลาจารึกของวัดตะโปธาราม ได้จารึกไว้ว่า วัดปราสาทมีมาตั้งแต่ครั้งที่ อาณาจักรล้านนาเจริญรุ่งเรืองเมื่อปี พ.ศ. 2035 ในสมัยที่พระยายอดเชียงราย ครองเมืองเชียงใหม่ และด้วยเหตุที่วัดนี้ตั้งอยู่ในเขตที่ประทับของเจ้านายและฝ่ายขุนนาง จึงได้รับการทำนุบำรุงสืบต่อกันมา แม้กระทั่งในสมัยที่เชียงใหม่ตกอยู่ภายใต้การปกครองของพม่า พระยาหลวงแสนคำก็ยังได้หล่อพระเจ้าหมื่นทอง พระพุทธรูปสัมฤทธิ์ปางมารวิชัยถวายไว้ที่วัดปราสาทในปี พ.ศ2133 และได้จารึกข้อความไว้ที่ฐานพระองค์นี้ด้วย ต่อมาในสมัยเจ้าหลวงธรรมลังกา เมื่อปี พ.ศ. 2366 ได้มีการบูรณะวัดปราสาท และมีการสร้างพระวิหารขึ้น ซึ่งเป็นพระวิหารที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งพระวิหารหลังนี้มี ลักษณะแบบล้านนาดั้งเดิมที่มีโครงสร้างแบบม้าต่างไหม คือลักษณะหลังคาและไม้ขื่นคานลดหลั่นกันขึ้นไป เหมือนต่างบนหลังม้าสำหรับบรรทุกสิ่งของ มีบันไดนาคนำขึ้นสู่ตัวอาคาร ด้านหน้าวิหารมีลวดลายปูนปั้นประดับ กระจกสีอย่างวิจิตร ภายในพระวิหารมีจิตรกรรมฝาผนังลายคำบนพื้นรักสีแดงเล่าเรื่องพระพุทธประวัติได้อย่างน่าสนใจ ที่ตั้ง : ตั้งอยู่บนถนนอินทวโรรส ใกล้กับวัดพระสิงห์ ตำบลพระสิงห์ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่