สักการะ “เสาอินทขิล” หรือเสาหลักเมืองที่ถูกสร้างขึ้นมา เมื่อครั้งพ่อขุนเม็งรายมหาราชจะสถาปนาเมืองเชียงใหม่ ในช่วงประมาณปี พ.ศ. 1839 โดยตั้งแต่แรกเริ่มนั้น เสาอินทขิลได้ประดิษฐานอยู่ภายในวิหารของวัดอินทขีลสะดือเมือง หรือวัดสะดือเมือง ต่อมาประมาณปี พ.ศ. 2343 พระเจ้ากาวิละซึ่งเป็นเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ในสมัยนั้น ได้ร่วมมือกับกองทัพของพระเจ้าตากสินมหาราช ทำการขับไล่พม่าออกจากดินแดนล้านนาได้สำเร็จ จากนั้นได้ฟื้นฟูเมืองเชียงใหม่ขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง โดยได้ย้ายเสาอินทขิลมาประดิษฐานอยู่ ณ วัดเจดีย์หลวง โดยประดิษฐานอยู่ในวิหารจตุรมุขทรงไทยหลังเล็ก ๆ ของวัดตั้งแต่นั้นมาจวบจนปัจจุบัน เสาอินทขิลสำคัญอย่างไร เสาอินทขิลของเมืองเชียงใหม่สร้างขึ้นด้วยพื้นฐานความเชื่อที่ว่าการสร้างเมืองในสมัยก่อน จะต้องมีเสาหลักเมือง เป็นศูนย์รวมแห่งความเชื่อความศรัทธา และจะต้องตั้งอยู่ศูนย์กลางของเมือง ที่เรียกว่า สะดือเมือง เพื่อเป็นที่เคารพสักการะของชาวเมือง ว่ากันว่า เสาหลักเมืองเป็นเสาแห่งความมั่นคงตามดวงชะตา ที่จะกำหนดความเจริญและความเสื่อมของเมือง ซึ่งในส่วนของตัวเสาหลักอินทขิลนี้ สร้างด้วยไม้ซุงต้นใหญ่ ที่ฝังอยู่ใต้ดิน โดยทุกปีในช่วงเดือนพฤษภาคมจะมีงานพิธีบูชาเสาอินทขิล ซึ่งเรียกกันว่า เข้าอินทขิล ถือเป็นการบูชาและพิธีฉลองหลักเมืองของชาวเชียงใหม่ซึ่งเชื่อกันว่าเสาอินทขิลเป็นเสาหลักที่สร้างความมั่นคง การอยู่ดีมีสุข ดังนั้น หลายคนจึงนิยมมาขอพรจากเสาอินทขิลเพื่อเสริมความเป็นสิริมงคลให้แก่ตนเองและครอบครัว ที่ตั้ง : ซึ่งตั้งอยู่เลขที่ 103 ถนน พระปกเกล้า ตำบลพระสิงห์ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่