ความโดดเด่นของวัดเจ็ดยอดที่มาพร้อมกับอายุอันเก่าแก่ของวัดคือลักษณะคล้ายกับมหาวิหารโพธิที่พุทธคยา ในประเทศอินเดีย ซึ่งฐานเจดีย์นั้นมีการประดับปูนปั้นรูปเทวดา ส่วนด้านนอกพระเจดีย์นั้น ประดับงานปูนปั้นรูปเทวดา ทั้งนั่งขัดสมาธิและยืนทรงเครื่องที่มีลวดลายต่างกันไปดูงามน่าชม อีกทั้งยังสถูปเจดีย์พระเจ้าติโลกราช เมื่อพระเจ้าติโลกราชสวรรคตในปี พ.ศ. 2030 ซึ่งพระยอดเชียงราย ราชนัดดาได้สืบราชสมบัติแทน และโปรดฯ ให้สร้างสถูปใหญ่บรรจุอัฐิของพระอัยกาธิราช สิ่งต่อมาที่น่าชมคือสัตตมหาสถาน คือสถานที่สำคัญในพุทธประวัติเจ็ดแห่ง ได้แก่ โพธิบัลลังก์ อนิมิตเจดีย์ รัตนจงกรมเจดีย์ รัตนฆรเจดีย์ อชปาลนิโครธเจดีย์ ราชายตนเจดีย์ ปัจจุบันเหลืออยู่ที่วัดเจ็ดยอดเพียงสามแห่ง คือ อนิมิตเจดีย์ รัตนฆรเจดีย์ มุจจลินทเจดีย์ อย่างไรก็ตาม วัดเจ็ดยอดนั้นมีความสำคัญในประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งของพุทธศาสนาในเมืองไทย เนื่องจากวัดนี้ได้ถูกใช้เป็นสถานที่ในการสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ 8 ของโลกและเป็นครั้งแรกของประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2020 ในรัชสมัยพระยาติโลกราชอันเป็นช่วงเวลาที่พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองมาก โดยพระยาติโลกราชนั้น ทรงสนับสนุนคณะสงฆ์นิกายสิงหล (ลังกาวงศ์) ทรงส่งเสริมการเล่าเรียนทางด้านปริยัติธรรม ทำให้ภิกษุล้านนามีความเชี่ยวชาญภาษาบาลี และโปรดฯ ให้ประชุมพระเถระชั้นผู้ใหญ่เพื่อชำระพระไตรปิฎก ณ วัดโพธารามมหาวิหารหรือวัดเจ็ดยอดในปัจจุบัน โดยใช้เวลา 1 ปีจึงแล้วเสร็จ นอกจากนี้พระอุโบสถหลังแรก ของวัดเจ็ดยอดนั้น พระเมืองแก้วพระราชาธิบดีลำดับที่ 12 แห่งราชวงศ์มังรายซึ่งทรงเป็นพระราชนัดดา ในสมเด็จพระเจ้าติโลกราช โปรดฯ ให้สร้างขึ้นตรงบริเวณที่ถวายพระเพลิง พระศพพระเจ้ายอดเชียงราย และด้านหลังของพระอุโบสถหลังนี้คือ สถูปเจดีย์อนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าติโลกราช ที่ตั้ง : ตั้งอยู่ที่ตำบลช้างเผือก บนถนนซูเปอร์ไฮเวย์ (เชียงใหม่-ลำปาง) ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ออกมาเพียง 4 กิโลเมตร