สักการะศาสนสถานโบราณที่มีอายุยาวนานหลายร้อยปี สำหรับชื่อวัดถ้ำตับเต่านั้น เป็นชื่อที่เรียกเพี้ยนมาจากคำว่า “ดับเต้า” ซึ่งหมายถึงการดับขี้เถ้าที่เกิดจากการเผาไหม้ของป่า ครั้นเรียกกันไปนานเข้า ก็เลยเพี้ยนมาเป็นตับเต่า อีกทั้งการสร้างวัดนี้ก็ไม่ปรากฏหลักฐานว่าเกิดขึ้นในยุคสมัยใด แต่สันนิษฐานตามสิ่งที่พบภายในวัด นั่นก็คือ พระพุทธรูปไสยาสน์องค์ใหญ่ ขนาดความยาวไม่น้อยกว่า 9 เมตร สร้างด้วยการก่ออิฐถือปูน พอกด้วยยางไม้รักปิดทอง ในแบบศิลปะอยุธยา ทั้งนี้ ตามคำบอกเล่าของเจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน ท่านสันนิษฐานว่าน่าจะสร้างขึ้นในสมัย สมเด็จพระเอกาทศรถ เมื่อคราวยกกองทัพเข้าตีเมืองพม่าและตีเมืองตองอูในปี พ.ศ. 2135 และสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงยกกองทัพหลวงไปทางเชียงดาวเข้าพักพลที่เมืองหาง ซึ่งขณะนั้นเป็นเมืองในราชอาณาจักรไทย โดยผู้เฒ่าคนหนึ่งเล่าว่า ณ ถ้ำตับเต่าแห่งนี้เคยเป็นที่ประทับพักกองทัพ ของสมเด็จพระเอกาทศรถ อย่างไรก็ตาม วัดถ้ำตับเต่าเป็นวัดที่ร้างมานาน ก่อนที่เจ้าหลวงมหาวงศ์จะสั่งให้บูรณะ ปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ นอกจากนี้ยังพบเรื่องราวของวัดถ้ำตับเต่าจากการบันทึกของฝรั่งชาวนอร์เวย์ที่ชื่อ มร.คาร์ลบ็อก ซึ่งได้มาพัก ณ เมืองฝางขณะทำการสำรวจธรรมชาติในเมืองเชียงใหม่ด้วยเช่นกัน ที่ตั้ง : ตั้งอยู่บริเวณเชิงเขาถ้ำตับเต่า หมู่บ้านถ้ำตับเต่า ตำบลศรีดงเย็น อำเภอไชยปราการ จังหวัดเชียงใหม่ ทางเชียงใหม่-ฝาง ระหว่างหลักกิโลเมตร ที่ 120-121 แยกซ้ายมือเข้าไปประมาณ 3 กิโลเมตร