จังหวัดเชียงใหม่เป็นจังหวัดที่มีทรัพยากรการท่องเที่ยวที่ครบถ้วน ในปี 2560 เชียงใหม่ได้รับ การจัดอันดับจากเว็บไซต์ของนิตยสาร Travel and Leisure ของสหรัฐอเมริกา (The World’s Best Cities 2016) ให้เป็นเมืองน่าท่องเที่ยวอันดับ 3 ของโลก โดยมีความโดดเด่นคือเป็นเมืองที่มีกำแพงเมืองโบราณ (Old Walled City) และยังได้รับการคัดเลือกจากองค์การ UNESCO ให้เป็นสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ด้านหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน (UNESCO Creative City Network: Crafts and Folk Art) เมื่อปี 2560 อีกด้วย
นอกจากเป็นเมืองที่มีสิ่งดึงดูดใจที่ครบถ้วนแล้ว เชียงใหม่ยังมีความพร้อมในการรองรับการท่องเที่ยว ทั้งด้านโรงแรม ร้านอาหาร และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ที่ครบครัน จนได้รับการจัดอันดับให้เป็นเมืองที่สะดวกสบายอันดับ 2 ของกลุ่ม Digital nomad หรือกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ทำงาน โดยอาศัยดิจิทัลเทคโนโลยีเป็นหลักในปี 2561 (https://nomadlist.com/, 2019) เรียกได้ว่าเป็นเมืองที่ครบเครื่องเรื่องการท่องเที่ยวก็ว่าได้ และล่าสุดในปี 2565 ยังได้รางวัลระดับโลกในฐานะเมืองที่มีศักยภาพด้าน เทศกาลในระดับนานาชาติ (IFEA – World Festival & Event City Award) ประจำปี 2565 ณ เมืองแมคกาแลน รัฐเท็กซัส ประเทศสหรัฐอเมริกา
อย่างไรก็ดี เชียงใหม่ยังมีจุดอ่อนในด้านสมรรถนะในการรองรับและการขับเคลื่อนศักยภาพให้เป็นที่ประจักษ์อย่างเด่นชัดในระดับสากล และการลดมลพิษทางอากาศ จึงควรมีแผนปฏิบัติการที่มีส่วนร่วมของภาคีที่เกี่ยวข้องเพื่อขับเคลื่อนการท่องเที่ยวในเชียงใหม่ ให้ฟื้นตัวหลังโควิด 19 อย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน
วันที่ 8 ธันวาคม 2565 นายศักดิ์ชัย คุณานุวัฒน์ชัยเดช รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่, นายสราวุฒิ แซ่เตี๋ยว คณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา (8 จังหวัดภาคเหนือ) และประธานที่ปรึกษาสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่, นายพัลลภ แซ่จิว ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่, ศาสตราจารย์ เกียรติคุณ ดร. มิ่งสรรพ์ ขาวสะอาด ประธานมูลนิธิศึกษานโยบายสาธารณะ ในฐานะประธานคณะทำงาน และนายวรพงษ์ หมู่ชาวใต้ ที่ปรึกษาประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่ และที่ปรึกษาคณะจัดทำแผน ร่วมกันหารือแผนยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวเชียงใหม่ 2567 (ภาคเอกชน) Chiang Mai BIG 5 ณ ห้องดอยตุง โรงแรมแคนทารี่ฮิลล์เชียงใหม่
โดยวัตถุประสงค์ของแผน 1.ยกระดับการท่องเที่ยวเชียงใหม่สู่ความเป็นเมืองวัฒนธรรมระดับสากลอย่างยั่งยืน 2. สร้างความเข้าใจ และแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับพหุภาคีด้านการท่องเที่ยวเพื่อหาเป้าหมายร่วมกัน 3.สร้างกระบวนการจัดทำแผนยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการท่องเที่ยวระดับจังหวัดร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ 4. จัดทำแผนที่นำทางเพื่อพัฒนาเชียงใหม่ให้เป็นจุดหมายปลายทางท่องเที่ยวระดับโลกเพื่อรองรับการท่องเที่ยวไทย 4.0 รองรับการฟื้นตัวหลังโควิด 19 และเพื่ออนาคตที่รุ่งโรจน์สำหรับ 5-10 ปีข้างหน้า
การพัฒนาการท่องเที่ยวเชียงใหม่ ซึ่งต้องใช้ศักยภาพด้านทุนธรรมชาติและทุนวัฒนธรรม จะต้องดำเนินการโดยคำนึงถึงการรักษาต้นทุนทางด้านประวัติศาสตร์และศิลปวัฒนธรรม วิถีการดำรงชีวิตรวมทั้งสิ่งแวดล้อมที่มีอยู่ โดยให้มีการประกอบการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ (Responsible Tourism) เพื่อให้มรดกด้านท่องเที่ยวทั้งธรรมชาติและวัฒนธรรมสามารถคงอยู่ได้อย่างยั่งยืน (Sustainable Tourism)
และสร้างสมดุลให้เกิดความพึงพอใจทั้งต่อผู้อยู่อาศัยและผู้มาเยือน ซึ่งเงื่อนไขของความสำเร็จจะอยู่ที่การสร้างความหลากหลาย ความเสมอภาค และการเปิดโอกาสให้เกิดอานิสงส์ถ้วนหน้า (Diversity: Equity: Inclusiveness)
ทั้งนี้ มีเป้าหมายการดำเนินการ 7 ยุทธศาสตร์ 1. ยุทธศาสตร์ที่ 1 เชียงใหม่เป็นเมืองมรดกโลก และศูนย์นานาชาติด้านศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน (Folk Art and Crafts and the Walled City) 2. ยุทธศาสตร์ที่ 2 เชียงใหม่เป็นจุดหมายปลายทางท่องเที่ยวเทศกาลและการประชุมระดับโลก (Festivals and MICE Destination) เชียงใหม่ : เมืองนานาชาติแห่งเทศกาลและการประชุม 3.ยุทธศาสตร์ที่ 3 เชียงใหม่เป็นศูนย์กลางของศิลปวิทยาการด้านอาหารระดับสากล (World Food Heritage Hub) 4. ยุทธศาสตร์ที่ 4 ส่งเสริมให้เชียงใหม่เป็นจุดหมายปลายทางเชิงสุขภาพเมืองพำนักระยะยาวและอยู่สบาย (Fitness, Long Stay and Wellbeing Destination) 5. ยุทธศาสตร์ที่ 5 ส่งเสริมให้เชียงใหม่เป็นจุดหมายปลายทางท่องเที่ยวธรรมชาติ และสันทนาการ (Fun Destination for Friends and Families) 6. ยุทธศาสตร์ที่ 6 การพัฒนาทักษะบุคลากร โครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล และด้านกายภาพ 7. ยุทธศาสตร์ที่ 7 กลไกขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวเชียงใหม่ และเสาหลักทั้ง 5