เชียงใหม่ – จังหวัดเชียงใหม่เร่งขับเคลื่อน “โครงการชุมชนไม้มีค่า” ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกไม้เศรษฐกิจ ที่สามารถใช้เป็นทรัพย์สินหลักประกันทางธุรกิจได้ เผยยอดเกษตรลงทะเบียนแล้วกว่า 1.3 หมื่นราย พร้อมลงมือปลูกไปแล้วกว่า 5.4 ล้านต้น พื้นที่รวมกว่า 3,900 ไร่
นายกมล นวลใย ผู้อำนวยการสำนักการจัดการทรัพยากรป่าไม้ ที่ 1 (เชียงใหม่) เปิดเผยว่า รัฐบาลได้กำหนดให้มีการขับเคลื่อน “โครงการชุมชนไม้มีค่า” ตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นมา โดยมีเป้าหมายระยะ 10 ปี เพื่อเป็นประโยชน์แก่ประชาชน 2.6 ล้านครัวเรือน ด้วยการส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกไม้เศรษฐกิจในที่ดินกรรมสิทธิ์ของตนเอง พร้อมกำหนดให้ต้นไม้ยืนต้นที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ สามารถนำมาใช้เป็นทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันทางธุรกิจได้ ด้วยการนำมาค้ำประกันการกู้ยืมเงินหรือขอสินเชื่อ โดยขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างการศึกษา เพื่อพัฒนาเกณฑ์การประเมินมูลค่าต้นไม้เศรษฐกิจที่เป็นมาตรฐานและได้รับการยอมรับ ซึ่งต้องคำนึงถึงความเหมาะสมด้านพื้นที่ ตลาด และระยะเวลาในการได้รับผลตอบแทนด้วย และในปัจจุบัน รัฐบาลได้แก้ไขกฎหมายโดยยกเลิกไม้หวงห้าม บนที่ดินกรรมสิทธิ์ หรือสิทธิครอบครองตามประมวลกฎหมายที่ดิน ทำให้การปลูก การตัดต้นไม้เศรษฐกิจได้เหมือนการปลูกพืชเกษตรทั่วไป
ทั้งนี้จังหวัดเชียงใหม่ ได้ดำเนินโครงการ “ชุมชนไม้มีค่าในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่” ตั้งแต่ปี 2560 – 2565 โดยได้จัดกิจกรรมส่งเสริมการปลูกไม้เศรษฐกิจ ล่าสุด มีผู้ลงทะเบียนแล้ว 13,651 ท่าน ปลูกต้นไม้ไปแล้ว 5,420,531 ต้น รวมเป็นพื้นที่ทั้งสิ้นกว่า 3,900 ไร่ โดยไม้ที่ได้รับความนิยมมากปลูก ได้แก่ ไม้พะยูง ไม้สัก ไม้มะค่าโมง ไม้ประดู่ป่า ไม้ยางนา ไม้แดง และตะเคียนทอง ซึ่งขณะนี้จังหวัดเชียงใหม่กำลังเร่งขยายพันธุ์กล้าไม้เหล่านี้ไว้รองรับให้กับผู้ที่ต้องการนำไปปลูก โดยผู้ที่สนใจสามารถติดต่อขอรับกล้าไม้ได้ที่ ศูนย์เพาะชำกล้าไม้เชียงใหม่ , สถานีเพาะชำกล้าไม้เชียงใหม่ และสถานีเพาะชำกล้าไม้แม่แตง
ด้าน นายวรวิทย์ ชัยสวัสดิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า การปลูกไม้มีค่าถือเป็นโครงการของรัฐบาลที่ต้องการให้ประชาชนได้อยู่กับป่าและใช้มูลค่าของป่าไม้ เพื่อสร้างงานสร้างรายได้ แต่ต้องมีการขออนุญาตให้ถูกฎหมาย โดยต้องแจ้งมาที่สำนักงานจัดการป่าไม้ที่ 1 ก่อน ซึ่งในปัจจุบันไม้มีค่าต่างๆ ถือว่าเปิดกว้างเป็นอย่างมาก และยังได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐและสำนักงานจัดการป่าไม้ที่ 1 ในเรื่องของกล้าไม้ และการส่งเสริมองค์ความรู้ นับเป็นอีกหนึ่งวิธีของการจัดการขยะจากไม้ ทำให้ไม่ต้องเผาป่าไม้อีกด้วย
website : mgronline.com
facebook : MGRonlineLive
twitter : @MGROnlineLive
instagram : mgronline
line : MGROnline
youtube : MGR Online VDO