เผยแพร่:
ปรับปรุง:
เชียงใหม่ – ผู้เชี่ยวชาญทั่วเชียงใหม่และทุกภาคส่วนระดมความร่วมมือตั้งโครงการ “Save ยางนา ฮักษาอินทขิล” กู้ชีพยางนายักษ์อายุกว่า 200 ปีที่ยืนต้นคู่เสาหลักเมืองเชียงใหม่ที่วัดเจดีย์หลวง หลังพบอาการน่าเป็นห่วงจากการที่ลำต้นด้านบนเป็นโพรงถูกน้ำขังจนผุ ส่วนด้านล่างดินถูกอัดทับจนแน่นจนรากดูดซึมระบายน้ำและอากาศได้ไม่ดี ทำเสี่ยงยืนต้นตาย
รายงานจากจังหวัดเชียงใหม่แจ้งว่า ขณะนี้กลุ่มผู้เชี่ยวชาญหลายด้านในจังหวัดเชียงใหม่ ทั้งด้านภูมิสถาปัตย์, ด้านรุกขกรรมการดูแลรักษาต้นไม้, ด้านดิน และด้านงานวิศวกรรม รวมทั้งด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนภาคเอกชนและเครือข่ายภาคประชาชน รวมตัวกันจัดทำโครงการ “Save ยางนา ฮักษาอินทขิล” เพื่อช่วยกันฟื้นฟูสภาพและดูแลรักษาต้นยางนาอายุกว่า 200 ปี สูงหลายสิบเมตร ที่ยืนต้นเคียงคู่อยู่กับหออินทขิลหรือศาลหลักเมืองเชียงใหม่ ที่วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ หลังมีการสำรวจพบว่าต้นยางนาดังกล่าวกำลังเผชิญกับปัญหาที่ทำให้เสี่ยงต่อการที่จะยืนต้นตายได้ เนื่องจากพบว่าลำต้นช่วงที่อยู่ด้านบนยอดถูกแมลงเจาะกัดกินจนเป็นโพรงทำให้มีน้ำขังและเน่าผุ ขณะที่โคนต้นถูกเทพื้นด้วยคอนกรีตทับและกดทับดินที่อยู่ด้านล่างจนแน่นปิดกั้นการระบายน้ำและอากาศ ส่งผลกระทบต่อระบบรากและการหาอาหารของต้นยางนาที่ไม่สามารถดูดซึมน้ำและอากาศได้ดีอย่างที่ควรจะเป็น
อาจารย์วรงค์ วงศ์ลังกา อาจารย์ภูมิสถาปัตย์ คณะสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งเป็นหนึ่งในทีมงานและผู้ประสานงานโครงการ ที่ริเริ่มโครงการนี้ เปิดเผยว่า จุดเริ่มต้นของความพยายามที่จะฟื้นฟูดูแลรักษายางนาต้นนี้มาจากช่วงประมาณ ก.ย. 63 ระหว่างการสำรวจต้นไม้ใหญ่กับสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ในเมืองเชียงใหม่ที่เป็นวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของตัวเอง ได้มาพบว่าต้นยางนาต้นนี้ที่ตามประวัติหลักฐานถูกปลูกเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2353 หรือปี 2354 มีสภาพกิ่งแห้งและใบแห้งร่วงหล่นเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นเรื่องผิดปกติ เนื่องจากช่วงดังกล่าวเพิ่งผ่านฤดูฝนที่ปกติแล้วต้นไม้จะได้รับน้ำและมีความสมบูรณ์ โดยเมื่อสังเกตบริเวณโคนต้นพบว่าพื้นถูกเททับด้วยคอนกรีตไว้และรากดันขึ้นมา อีกทั้งพื้นด้านล่างถูกคลุมด้วยพลาสติก เป็นการปิดกั้นการระบายน้ำและอากาศ ทำให้ระบบนิเวศของดินขาดความสมบูรณ์และส่งผลกระทบต่อระบบรากและการหาอาหารของต้นยางนาไปด้วย
ทั้งนี้ โดยส่วนตัวทำงานร่วมกับสมาคมรุกขกรรมไทยด้วยในฐานะหนึ่งในกรรมการที่ปรึกษาของสมาคม และพอมีความรู้อยู่บ้าง เห็นแนวโน้มที่เกิดขึ้นกับต้นยางนาต้นนี้แล้วดูไม่ค่อยดีนัก ทำให้อยากจะหาทางแก้ไขปัญหาและฟื้นฟูอนุรักษ์ต้นยางนาต้นนี้ จึงปรึกษากับทางทีมงานโครงการขับเคลื่อนเมืองเชียงใหม่สู่เมืองมรดกโลก เพราะมองเห็นว่าต้นยางนาต้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของการผลักดันเชียงใหม่เป็นเมืองมรดกโลก พร้อมทั้งนำเรื่องปรึกษาหารือกับทางเจ้าอาวาสวัดเจดีย์หลวง กระทั่งเกิดการต่อยอดและประสานความร่วมมือกับผู้คนกลุ่มต่างๆ รวมทั้งผู้เชี่ยวชาญแต่ละด้าน และภาคเอกชนในการที่จะเข้ามาช่วยกันอนุรักษ์ฟื้นฟูต้นยางนาเก่าแก่ต้นนี้ โดยใช้ความเชี่ยวชาญและความพร้อมของแต่ละคนในการทำงาน ซึ่งรวมถึงการนำพิธีกรรมมาใช้ในการหลอมรวมสร้างความร่วมมือด้วยการจัดพิธีบวงสรวงก่อนที่จะเริ่มทำงานเมื่อวันที่ 16 มี.ค. 64 ที่ผ่านมา โดยการทำงานในครั้งนี้มองว่าเป็นมากกว่าเพียงการฟื้นฟูอนุรักษ์ต้นไม้เก่าแก่ แต่เป็นต้นแบบของกระบวนการทำงานที่สร้างการมีส่วนร่วมของผู้คนในการช่วยดูแลและเป็นเจ้าของเมืองด้วย
สำหรับแผนการทำงานนั้น อาจารย์วรงค์บอกว่า เบื้องต้นกำหนดไว้ 6 สัปดาห์ อย่างไรก็ตาม คาดว่ามีความเป็นไปได้อย่างสูงที่อาจจะใช้เวลาเพียง 5 สัปดาห์เท่านั้น เนื่องจากมีการวางแผนงานไว้เป็นระบบอย่างดี โดยจะเริ่มจากการฟื้นฟูระบบรากด้วยการรื้อพื้นคอนกรีตออกแล้วปูด้วยหญ้าแทน รวมทั้งทำการตัดแต่งกิ่งและลำต้น พร้อมจัดวางงานระบบต่างๆ ที่จำเป็นในการดูแลรักษาต้นยางนาต้นนี้ จากนั้นจะมีการติดตามประเมินผลและบำรุงรักษาต้นเป็นประจำทุกๆ 3 เดือน ซึ่งการทำงานนี้รวมทั้งการจัดทำภาพสแกน 3 มิติของต้นยางนาเก็บไว้เป็นฐานข้อมูลใช้งบประมาณทั้งสิ้นประมาณ 2.7 แสนบาทเท่านั้น โดยทางวัดเจดีย์หลวงเป็นฝ่ายจัดหาให้ทั้งหมด โดยหลังจากที่ทำการฟื้นฟูเสร็จแล้วจะมีการประสานขอการสนับสนุนจากศูนย์ธรรมชาติวิทยาดอยสุเทพ ในการขยายพันธุ์จากต้นยางนาต้นนี้เพื่อเก็บเชื้อพันธุ์ที่ยังคงลักษณะพันธุกรรมและจิตวิญญาณเดิมเอาไว้ด้วยเพื่อการปลูกทดแทนในอนาคต