อุทยานฯ ดอยสุเทพตั้งโต๊ะแจงยิบกรณีดรามาขุดดินใกล้น้ำตก-ยันแค่ชุมชนลอกฝายดั้งเดิมแก้ภัยแล้งพร้อมอนุญาตถูกต้อง
เผยแพร่: ปรับปรุง: โดย: ผู้จัดการออนไลน์
เชียงใหม่ – ผอ.สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 พร้อมหัวหน้าอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย และผู้ใหญ่บ้านดอยสุเทพ ตั้งโต๊ะชี้แจงละเอียดยิบประเด็นโดนโจมตีหนักกรณีขุดดินพื้นที่ซับน้ำใกล้น้ำตก ปปป.ในเขตอุทยานฯ กลายสภาพเป็นสระน้ำ ระบุเป็นเพียงการขุดลอกตะกอนดินและทรายทับถมในฝายกักเก็บน้ำดั้งเดิมของหมู่บ้าน และดำเนินการทุกอย่างถูกต้องตามขั้นตอนกฎหมาย เพื่อแก้ปัญหาภัยแล้งและขาดแคลนน้ำตามคำร้องขอของราษฎรที่ต้องเผชิญวิกฤติมาต่อเนื่องหลายปี ยืนยันไม่ได้ทำลายธรรมชาติและระบบนิเวศ
ความคืบหน้ากรณีเมื่อวันที่ 1 มี.ค. 66 ผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งโพสต์ภาพสภาพพื้นที่ที่เป็นพื้นที่ซับน้ำขนาดใหญ่ในเขตอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย ซึ่งอยู่ติดกับถนนช่วงทางขึ้นสู่พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ ที่ถูกขุดเข้าไปจนถึงด้านในที่เป็นน้ำตกเพื่อปรับพื้นที่ทำเป็นสระน้ำ เป็นการทำลายสภาพเดิมที่มีความสมบูรณ์ของระบบนิเวศ รวมทั้งทำให้ต้นไม้ตายไปแล้วหลายต้นและยังมีที่กำลังจะตายอีกด้วย ซึ่งการกระทำดังกล่าวนี้ไม่ควรจะเกิดขึ้นในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ และยังอยู่ในพื้นที่สงวนชีวมณฑลแม่สา-คอกม้าด้วย โดยตั้งข้อสงสัยว่าการกระทำดังกล่าวได้รับอนุญาตหรือไม่ และมีความผิดตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 หรือไม่ อย่างไร ซึ่งภายหลังจากที่มีการโพสต์แล้วได้มีผู้แชร์ต่อและแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง ส่วนใหญ่ตำหนิการดำเนินการดังกล่าวและอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย ที่ปล่อยให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้น สร้างความเสียหายแก่ธรรมชาติและระบบนิเวศ ทั้งๆ ที่เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบพื้นที่และควรจะต้องมีความรู้ความเข้าใจอย่างดีในการดูแลปกป้องธรรมชาติ
ช่วงบ่ายวันนี้ (2 มี.ค. 66) ที่ทำการอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย ตรงข้ามอนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัย เชิงดอยสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ นายกริชสยาม คงสตรี ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 พร้อมด้วยนายวุฒิชัย โสมวิภาต หัวหน้าอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย และนายขจร ประเสริฐศรี ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 9 บ้านดอยสุเทพ ตำบลสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ร่วมกันแถลงชี้แจงกรณีดังกล่าว โดยนายกริชสยามกล่าวว่า กรณีที่มีการโพสต์ดังกล่าวนั้นอาจจะทำให้เกิดความเข้าใจผิดขึ้น ซึ่งข้อเท็จจริงและที่มาที่ไปนั้นเกิดจากประชาชนและชุมชนในพื้นที่ปัญหาการขาดแคลนน้ำต้นทุนสำหรับใช้ประโยชน์ในการอุปโภคบริโภคตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งบางปีเดือดร้อนหนักและมีความจำเป็นต้องใช้รถบรรทุกน้ำจากพื้นที่ราบส่งขึ้นไปใช้ในพื้นที่บนดอย กระทั่งทางชุมชนแจ้งปัญหาที่เกิดขึ้นให้ทางคณะกรรมาธิการ ศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร ระหว่างลงพื้นที่เมื่อปลายปี 2565 เพื่อขอฟื้นฟูซ่อมแซมสภาพฝายกักเก็บน้ำบริเวณใกล้น้ำตก ปปป.ที่ชุมชนใช้ประโยชน์มาดั้งเดิมหลายสิบปี แต่เกิดตื้นเขินเนื่องจากตะกอนดินและทรายทับถม
จากนั้นทางคณะกรรมาธิการฯ ได้ประสานผ่านทางจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อขอรับการสนับสนุนจากทางสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 และอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย ในการดำเนินการตามระเบียบกฎหมายและข้อบังคับของอุทยานฯ ซึ่งเมื่อพิจารณาถึงปัญหาความเดือดร้อนและความจำเป็นของชุมชนแล้ว รวมทั้งการดำเนินการไม่ได้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากนัก เนื่องจากเป็นฝายกักเก็บน้ำดั้งเดิมที่เคยใช้ประโยชน์มายาวนานอยู่แล้ว และเป็นการดำเนินการโดยงบประมาณและแรงงานของชุมชน ทางอุทยานฯ จึงได้มีการอนุญาตอย่างถูกต้องตามกฎระเบียบ ทั้งนี้ กรณีที่มีการโพสต์ดังกล่าวนั้น เชื่อว่าน่าจะเนื่องมาจากความรักความหวงแหนในธรรมชาติ อย่างไรก็ตามยืนยันว่าทางอุทยานฯ และชุมชนมีความรักความหวงแหนไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน แต่การดำเนินการนี้เนื่องมาจากพิจารณาแล้วมีความจำเป็นจริงๆ และเบื้องต้นมีการวางแนวทางไว้แล้วว่าจะต้องดำเนินการฟื้นฟูสภาพบริเวณดังกล่าวด้วยการปลูกต้นไม้ที่มีความเหมาะสมทดแทนหลังจากผ่านพ้นช่วงแล้งไปแล้ว เพื่อให้เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำและแหล่งน้ำต้นทุนของชุมชนควบคู่ไปกับการอนุรักษ์
ขณะที่นายวุฒิชัย โสมวิภาต หัวหน้าอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย กล่าวว่า การดำเนินการดังกล่าวเป็นการขุดลอกตะกอนดินทรายที่ทับถมอยู่เพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้งและขาดแคลนน้ำของราษฎรและชุมชนในพื้นที่ ซึ่งฝายดังกล่าวเป็นแหล่งน้ำดั้งเดิมที่ชุมชนใช้ประโยชน์มาหลายสิบปีแล้ว เพียงแต่ที่ผ่านมาเกิดตื้นเขินเนื่องจากน้ำป่าไหลหลากดินโคลนถล่ม โดยทางอุทยานฯ ได้รับการประสานงานและรับทราบปัญหาความเดือดร้อนที่เกิดขึ้น พร้อมพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบแล้วว่าเป็นประโยชน์และช่วยแก้ปัญหาความเดือดร้อนของชุมชน รวมทั้งไม่ได้เป็นการบุกรุกทำลายเปิดพื้นที่ใหม่ แต่เป็นการปรับปรุงซ่อมแซมและขุดลอกตะกอนของฝายที่มีอยู่เดิมเท่านั้น อีกทั้งไม่ก่อผลกระทบต่อระบบนิเวศมากนัก จึงอนุญาตให้ดำเนินในรูปแบบโครงการร่วมระหว่างชุมชนกับอุทยานฯ ซึ่งดำเนินการทุกอย่างถูกตามกฎหมายและกฎระเบียบของทางกรมอุทยานฯ ทุกอย่าง โดยเมื่อเริ่มย่างเข้าฤดูฝนเตรียมที่จะปลูกป่าฟื้นฟูและสร้างความอุดมสมบูรณ์บริเวณพื้นที่ดังกล่าวด้วย
ด้านนายขจร ประเสริฐศรี อายุ 54 ปี ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 9 บ้านดอยสุเทพ เปิดเผยว่า การดำเนินการดังกล่าวมีจุดเริ่มจากความต้องการของราษฎรในพื้นที่ที่ต้องการแก้ไขปัญหาภัยแล้วและขาดแคลนน้ำ ทั้งเพื่อการอุปโภคบริโภค และใช้ป้องกันแก้ไขดับไฟป่าที่เกิดขึ้นตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา จึงเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาด้วยการขุดลอกตะกอนดินและทรายที่ทับถมบริเวณดังกล่าวที่เป็นฝายกักเก็บน้ำดั้งเดิมของชุมชนมาตั้งแต่ตัวเองเกิดและโตในชุมชนแห่งนี้ โดยเมื่อช่วงปลายปี 2565 ได้ทำหนังสือร้องขอผ่านทาง คณะกรรมาธิการ ศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร ระหว่างลงพื้นที่ ซึ่งได้ตอบรับพร้อมประสานงานกับทางจังหวัดเชียงใหม่ และ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 (เชียงใหม่) รวมทั้งอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย ตามขั้นตอน กระทั่งมีการอนุญาตให้ทางหมู่บ้านดำเนินการขุดลอกตะกอนดินและทรายบริเวณฝายดังกล่าวใกล้กับน้ำตก ปปป. เมื่อช่วงเดือน ธ.ค. 66 โดยใช้เงินทุนของหมู่บ้านและแรงงานของราษฎรในหมู่บ้านเป็นหลัก รวมทั้งมีในส่วนของเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ช่วยด้วย จนแล้วเสร็จใช้เวลาทั้งสิ้นประมาณ 3 วัน
ทั้งนี้ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 9 บ้านดอยสุเทพ ยืนยันว่า การดำเนินการทุกอย่างมีการแจ้งร้องขออย่างเป็นทางการและทางอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย ทราบเรื่องมาตั้งแต่แรกเริ่ม และไม่ได้ทำลายธรรมชาติที่สมบูรณ์หรือระบบนิเวศแต่อย่างใด โดยเป็นเพียงกันขุดลอกตักตะกอนดินและทรายที่ทับถมสะสมมานานหลายสิบปีขึ้นมากองเป็นคันดินเท่านั้น เพื่อให้ฝายที่เป็นแหล่งน้ำดื่มน้ำใช้ของหมู่บ้านมาแต่เดิมสามารถกักเก็บน้ำไว้ได้เพิ่มมากขึ้นเพื่อใช้ประโยชน์ต่างๆ นอกจากนี้ย้ำด้วยว่าในการดำเนินการนั้นไม่มีการตัดต้นไม้แม้แต่ต้นเดียว ส่วนที่พบเห็นยืนต้นตายอยู่นั้น เป็นต้นไม้ที่ยืนต้นตายอยู่เดิมแล้ว ไม่ได้ยืนต้นตายเพราะการขุดลอกฝายแต่อย่างใด ขณะเดียวกันระบุว่าบริเวณดังกล่าวนี้ไม่ได้อยู่ในพื้นที่สงวนชีวมณฑลแม่สา-คอกม้าด้วย