โรงแรมชื่อดังเชียงใหม่ ที่ประกาศปลดพนักงาน และ ปิดกิจการไปก่อนหน้านี้ ยินยอมจ่ายเงิน ค่าชดเชยแก่ลูกจ้าง ที่ต้องตกงาน 188 คน เป็นเงินรวม 16 ล้านบาท
ช่วงเช้าวันนี้ ที่สำนักงานอัยการภาค 5 อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ พนักงานลูกจ้างของโรงแรมชื่อดัง (ดาราเทวี) ย่านตำบลหนองป่าครั้ง อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ที่ประกาศปิดกิจการไปก่อนหน้านี้ ได้เดินทางเข้าพบ นายเชษฐวิทย์ ตันติพันธุ์วดี อธิบดีอัยการภาค 5 เพื่อแสดงความขอบคุณ ในการอำนวยความยุติธรรม จนทำให้กลุ่มลูกจ้าง ได้รับความเป็นธรรม จากกระบวนการยุติธรรม ในขั้นตอนของ สำนักงานอัยการภาค 5 , สำนักงานอัยการจังหวัดเชียงใหม่ , สำนักงานอัยการคุ้มครองสิทธิ และ ช่วยเหลือทางกฎหมาย และ การบังคับคดีจังหวัดเชียงใหม่
ทั้งนี้อธิบดีอัยการภาค 5 บอกว่า หลังจากมีคำสั่งให้ส่งตัวนายจ้าง ดำเนินคดีเนื่องจากไม่ยอมจ่ายเงินแก่ลูกจ้าง กรณีนายจ้างหยุดกิจการ แต่ต่อมา ฝ่ายนายจ้างได้ขอเจรจา ตามแนวทางการประนีประนอมยอมความ ตามแนวทางของ สำนักงานอัยการสูงสุด และ สำนักงานอัยการภาค 5 โดยนายจ้างผู้ประกอบการโรงแรมแห่งนี้ ยอมนำเงินที่ลูกจ้างเรียกร้องไป ไม่ว่าเป็นเงินเดือนที่ค้างชำระ เบี้ยปรับ และ ค่าชดเชยต่าง ๆ ตามกฎหมาย มาวางต่อหน่วยงานรับผิดชอบ เพื่อเป็นการชำระเงิน ที่ค้างให้แก่ ลูกจ้าง ผู้เรียกร้อง 188 คน รวมเป็นเงิน 16 ล้านบาท ซึ่งผลสำเร็จจากการประนีประนอม จะส่งผลดีต่อลูกจ้างที่ได้รับการบรรเทาผลร้ายในการเลิกจ้างอย่างทั่วถึง และ ยังส่งผลดีต่อนายจ้าง ที่อาจไม่ต้องถูกดำเนินคดี เป็นการลดความขัดแย้งไม่ให้เกิดขึ้นในสังคม
สำหรับโรงแรมดาราเทวีนั้น ก่อตั้งขึ้นในปี 2545 มีบริษัท โรงแรมดาราเทวี จำกัด เป็นเจ้าของ เป็นโรงแรมระดับ 5 ดาว สร้างด้วยสถาปัตยกรรมแบบล้านนาโบราณ มีห้องพัก 123 ห้อง ใช้เงินลงทุนก่อสร้างราว 3,000 ล้านบาท จากการได้รับผลกระทบในช่วงโควิด-19 ทำให้ต้องประกาศ ปิดกิจการชั่วคราว เมื่อเดือนพฤษภาคม 2563 จากนั้นได้ยื่นขอฟื้นฟูกิจการใน เดือนมิถุนายน 2563 แต่ศาลอุทธรณ์ มีคำสั่งยกคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ ในวันที่ 18 พฤศจิกายน 2563 ทำให้ต้องประกาศปลดพนักงาน และ ปิดกิจการ เข้าสู่กระบวนการล้มละลาย โดยมีการยึดทรัพย์สินต่าง ๆ โดยเฉพาะที่ดิน และ โรงแรมดาราเทวี ออกขายทอดตลาด เพื่อนำเงินมาชำระคืนเจ้าหนี้
ต่อมาสำนักงานบังคับคดี จังหวัดเชียงใหม่ ได้จัดให้มีการขายทอดตลาด โรงแรมดาราเทวี ครั้งแรกเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2564 ด้วยราคาเริ่มต้น 2,116 ล้านบาท หลังเลื่อนการขายมาหลายปี มีผู้ลงทะเบียน และ วางเงินประกัน 110 ล้านบาท ข้าร่วมเพียงรายเดียว คือ บริษัทไฮไลฟ์แอสเสทจำกัด ผู้ประกอบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ ในจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งยังไม่รับราคา 2,116 ล้านบาท ทำให้ต้องกำหนดวันขายทอดตลาด ครั้งที่ 2 ในวันที่ 24 ธันวาคม 2564 ซึ่งปรับลดราคาลง ร้อยละ 10 ตามระเบียบบังคับ กำหนดราคาขายทอดตลาดไว้ที่ราคา 1,904.62 ล้านบาท โดยมีผู้เข้าร่วมการประมูลในครั้งนี้ 2 ราย ได้แก่ บริษัท ไฮไลฟ์ แอสเซส จำกัด และ บริษัท อินเตอร์ ฟาร์อีส เทอมอลพาวเวอร์ จำกัด หรือ IFEC ซึ่งในการเคาะราคาในที่สุดบริษัท IFEC เป็นผู้ชนะการประมูลด้วยราคา 2,012,620,000 บาท
หลังจากนั้นในเดือนมกราคม 2565 บริษัท IFEC ได้ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลา การวางเงินซื้อทรัพย์ แต่เจ้าพนักงานบังคับคดีไม่อนุญาต พร้อมทั้งยึดเงินประกันจำนวน 110 ล้านบาท