การรถไฟฯ เปิดเดินรถขบวนปฐมฤกษ์ เส้นทางรถไฟสายประวัติศาสตร์ 3 จังหวัด เชียงใหม่ ลำพูน และลำปาง (Lanna Modernization) เพื่อส่งเสริมการเดินทางท่องเที่ยวทางรถไฟ 3 จังหวัดภาคเหนือตอนบน
14 ก.พ.2565-นายสุชีพ สุขสว่าง รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการเดินรถ การรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) ร่วมพิธีเปิดเดินรถขบวนปฐมฤกษ์เส้นทางรถไฟสายประวัติศาสตร์ 3 จังหวัด เชียงใหม่ ลำพูน และลำปาง (Lanna Modernization) เพื่อส่งเสริมการเดินทางท่องเที่ยวทางรถไฟใน 3 จังหวัดภาคเหนือตอนบน ซึ่งได้รับความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง ในการตกแต่งขบวนรถไฟและห้องโดยสาร ให้มีความสวยงามแสดงออกถึงอัตลักษณ์วัฒนธรรมภาคเหนือตอนบน
ทั้งนี้จะช่วยให้ผู้โดยสารได้สัมผัสกลิ่นอายบรรยากาศล้านนาตลอดการเดินทาง โดยเริ่มเคลื่อนขบวนออกจากสถานีเชียงใหม่ไปยังสถานีรถไฟลำพูน เยี่ยมชมย่านการค้าโบราณ และแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ประจำจังหวัด อาทิ กู่ช้าง-กู่ม้า วัดพระธาตุหริภุญไชย อนุสาวรีย์พระนางจามเทวี คุ้มเจ้าหลวงจักรคำขจรศักดิ์ ต่อด้วยสถานีลำปาง เพื่อเดินทางโดยรถม้าเยี่ยมชมวัดศรีรองเมือง วัดปงสนุก ชุมชนประตูป่อง ชุมชนท่ามะโอ ชุมชนสบตุ๋ย ชุมชนรถไฟนครลำปาง และปิดท้ายที่สถานีรถไฟขุนตาน ไปที่จุดถ่ายภาพ และสะพานขามทาชมภู ก่อนเดินทางกลับถึงสถานีรถไฟเชียงใหม่โดยสวัสดิภาพ
นายสุชีพ กล่าวว่า การเปิดเดินรถขบวนปฐมฤกษ์สำหรับเส้นทางรถไฟสายประวัติศาสตร์ 3 จังหวัด เชียงใหม่ ลำพูน และลำปาง (Lanna Modernization) ถือเป็นการดำเนินการตามนโยบายของนายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย ที่ได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย กับมหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ในโครงการการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์โดยรถไฟบนเส้นทางยุคสมัยแห่งล้านนา
“ที่ผ่านาการถไฟฯ ได้มีการทดสอบการเดินรถเชิงพาณิชย์และทดสอบสินค้าและบริการทางการท่องเที่ยวของเส้นทางรถไฟสายประวัติศาสตร์ 3 จังหวัด เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง ไปแล้วเมื่อวัน 12 กุมภาพันธ์ 2565 ซึ่งการเดินรถเป็นไปด้วยความเรียบร้อยดี และหลังจากมีการนำร่องเปิดเดินรถขบวนปฐมฤกษ์ไปแล้ว การรถไฟฯ จะมีการจัดทำรายละเอียดโปรแกรมการท่องเที่ยว เพื่อเปิดให้สำหรับประชาชน นักท่องเที่ยวได้ร่วมเดินทางท่องเที่ยวทางรถไฟในภาคเหนือต่อไป” นายสุชีพ กล่าว
สำหรับขบวนรถไฟท่องเที่ยวเส้นทางรถไฟสายประวัติศาสตร์ 3 จังหวัดล้านนา ถืออีกเป็นก้าวสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงบทบาทของ รฟท. ในการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ บนเส้นทางประวัติศาสตร์รถไฟและย่านการค้าของกลุ่มจังหวัดล้านนาตอนบน ซึ่งจะก่อให้เกิดการกระตุ้นการท่องเที่ยว กระจายรายได้ลงสู่ชุมชน และพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากอย่างทั่วถึงและยั่งยืน