ภาคี #SAVEบางกลอย จ.เชียงใหม่ รวมตัวประตูท่าแพ เรียกร้องยกเลิกจับกุม คุมขัง ดำเนินคดีชาวบ้านบางกลอยโดยทันที เตรียมชุมนุม 8 มี.ค. 2564 ที่เนียบรัฐบาล เร่งรัดให้เกิดการแก้ไขปัญหา – สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนขอความร่วมมือนักวิชาการ-อาจารย์ ใช้ตำแหน่งประกันตัวชาวบ้าน
กิจกรรมภาคี #SAVEบางกลอย เชียงใหม่
โพสต์โดย ภาคีSaveบางกลอย เมื่อ วันเสาร์ที่ 6 มีนาคม 2021
6 มี.ค. 2564 เว็บไซต์ The Active รายงานว่าที่ประตูท่าแพ จ.เชียงใหม่ ภาคี #SAVEบางกลอยเชียงใหม่ ออกแถลงการณ์โดยมีข้อความระบุว่านับตั้งแต่กลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงบ้านบางกลอย อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี จำนวน 36 ครัวเรือน ประมาณ 70 ชีวิต ได้อพยพโยกย้ายกลับไปปักหลัก แผ้วถางพื้นที่ทำกินในพื้นที่ดั้งเดิมของบรรพบุรุษที่บ้านบางกลอยบน-ใจแผ่นดิน เมื่อวันที่ 9 ม.ค. 2564
จนปรากฏเป็นข่าวว่าจะมีการสนธิกำลังเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ร่วมกับทหารเข้าไปดำเนินการ ในนามภาคี #SAVEบางกลอย จ.เชียงใหม่ ไม่อาจวางใจในสถานการณ์ได้
ภาคี #SAVEบางกลอย ได้พยายามทุกวิถีทางเพื่อป้องกันสถานการณ์ความรุนแรงและปกป้องสิทธิของพี่น้องกะเหรี่ยงบางกลอยมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่การเข้ายื่นหนังสือถึง วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เมื่อวันที่ 5 ก.พ. ที่ผ่านมา จนถึงการชุมนุมบริเวณสะพานชมัยมรุเชฐ ทำเนียบรัฐบาลระหว่างวันที่ 15-17 ก.พ. จนเกิดเป็นบันทึกข้อตกลงเพื่อแก้ไขปัญหากรณีบางกลอย-ใจแผ่นดิน ลงนามโดยฝ่ายการเมืองและข้าราชการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งผู้แทนจากขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) ภาคี #SAVEบางกลอย และผู้แทนชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย ซึ่งเป็นนิมิตหมายอันดีที่อาจนำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่เรื้อรังมากว่า 25 ปีให้ยุติลงอย่างสันติ
แต่กลับไม่เป็นเช่นนั้น เมื่อในระหว่างการลงพื้นที่ระหว่างวันที่ 19-23 ก.พ. ที่ผ่านมา โดยคณะทำงานแก้ไขปัญหาของชุมชนกะเหรี่ยงบางกลอย จ.เพชรบุรี ซึ่งลงนามแต่งตั้งโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ปรากฏว่าการทำงานต้องหยุดชะงักลง ภายหลังมีการดำเนินการตามยุทธการพิทักษ์ป่าต้นน้ำเพชร ซึ่งเราเห็นว่าที่ผ่านมารัฐมีความพยายามในการกดดันให้ชาวบ้านต้องกลับลงมาจากบางกลอยบน-ใจแผ่นดินอย่างน้อย 3 ครั้ง ได้แก่ ยุทธการพิทักษ์ป่าต้นน้ำเพชร ระหว่างวันที่ 22-23 ก.พ. การเจรจากับผู้แทนชาวบ้านบางกลอยบน-ใจแผ่นดิน 4 คน ในวันที่ 25 ก.พ. และปฏิบัติการอีกครั้งเมื่อวันที่ 1 มี.ค. ที่ผ่านมา แต่ไม่มีครั้งใดที่ชาวบ้านยินยอมจะกลับลงมา
จนเกิดเป็นภาพปฏิบัติการเมื่อวานนี้ (5 มี.ค.) ที่มีการสนธิกำลังกันเข้าจับกุมชาวบ้านตามหมายจับ 30 ราย ในข้อหา “บุกรุก ก่อสร้าง แผ้วถาง ยึดถือครอบครอง กระทำการใด ๆ ให้เสื่อมสภาพหรือเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่ไปจากเดิมแก่ป่าในเขตอุทยานแห่งชาติ โดยไม่ได้รับอนุญาต” ตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 มาตรา 19 (1) ซึ่งจับกุมได้ 22 ราย หนึ่งในนั้น คือ หน่อแอะ มีมิ วัย 59 ปี บุตรชายของปู่คออี้ หรือ โคอิ มีมิ ผู้นำทางจิตวิญญาณกะเหรี่ยงบ้านใจแผ่นดินผู้ล่วงลับ ทั้งหมดถูกฝากขังที่เรือนชั่วคราวเขากลิ้ง จ.เพชรบุรี ทันที
นอกจากนั้นยังนำชาวบ้านกลับลงมาจากบางกลอยบน-ใจแผ่นดินทั้งหมด รวม 87 ราย
ภาคี #SAVEบางกลอย จ.เชียงใหม่ เห็นว่า การกระทำดังกล่าวของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นการกระทำที่อาจเรียกได้ว่า “เขียนด้วยมือ ลบด้วยเท้า” ที่แม้ รัฐมนตรีว่าการฯ จะลงนามในบันทึกข้อตกลงเอง แต่ก็กลับกลอกได้อย่างน่าละอาย กลับกลายเป็นเพียงเครื่องมือของข้าราชการกระทรวงฯ ในการกล่าวร้าย ผลิตซ้ำมายาคติกดทับ ลิดรอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของกลุ่มชาติพันธุ์ และอยู่เบื้องหลังปฏิบัติการรุนแรงทั้งหมด จนกระทั่งเกิดเป็นคดีความที่สร้างบาดแผลร้าวลึกในจิตใจของชาวบ้าน
พวกเราหลายคนในที่นี้ก็เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ เป็นชนเผ่าพื้นเมืองที่เคยถูกกระทำเช่นนี้ เราเข้าใจเป็นอย่างดีว่าการต้องถูกย่ำยีโดยผู้มีอำนาจนั้นสร้างความเจ็บปวดขนาดไหน คนเท่ากัน แต่ทำไมได้รับการปฏิบัติไม่เท่ากัน
เพื่อให้สถานการณ์คลี่คลายลง และเปิดช่องทางให้เกิดการแก้ไขปัญหาโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง พวกเรามีข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลดังต่อไปนี้
1. รัฐต้องหามาตรการหรือนโยบายในการยกเลิกการจับกุม คุมขัง และการดำเนินคดีชาวบ้านบางกลอยโดยทันที
2. รัฐต้องดำเนินการตามบันทึกข้อตกลงเพื่อแก้ไขปัญหากรณีบางกลอย-ใจแผ่นดิน เมื่อวันที่ 16 ก.พ. 2564 ซึ่งชอบด้วยกฎหมายทุกประการ หากใครหรือหน่วยงานใดไม่ดำเนินการตามต้องรับผิดชอบกับทุกผลกระทบที่เกิดขึ้นกับชาวบ้าน
3. รัฐต้องดำเนินการแก้ไขปัญหาโดยใช้การบูรณาการกฎหมายและนโยบายหลายฉบับ ด้วยจุดมุ่งหมายในการแก้ไขปัญหา ไม่ใช่เพื่อการปราบปราม เช่น พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 มาตรา 64 และ 65, รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 70, ปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง และมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 3 ส.ค. 2553 ว่าด้วยแนวนโยบายและหลักปฏิบัติในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง
4. ต้องให้มีการพิสูจน์สิทธิชาวกะเหรี่ยงบางกลอย เกี่ยวกับพื้นที่ทำกินและอยู่อาศัยที่บ้านบางกลอยบน-ใจแผ่นดินทั้งหมด หากปรากฏหลักฐานยืนยันว่าชาวกะเหรี่ยงบางกลอยเคยได้อยู่อาศัยและทำกินในบริเวณนั้นมาก่อน ต้องมีมาตรการหรือนโยบายในการคืนสิทธิให้ชาวบ้านโดยไม่มีเงื่อนไข
5. ปลดรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วราวุธ ศิลปอาชา โดยเร่งด่วน เนื่องจากรัฐมนตรีคนนี้ไม่มีความสามารถในการบริหาร กำกับ บังคับบัญชาเจ้าหน้าที่ในกระทรวงได้ ไม่สามารถทำให้ประชาชนเชื่อมั่นในคำสั่งและนโยบายในการแก้ไขปัญหาใด ๆ ได้อีก รวมทั้งขาดความเข้าใจในปัญหา และไม่รับฟังข้อมูลที่รอบด้านประกอบการแก้ไขปัญหา จึงเป็นเพียงเครื่องมือของข้าราชการกระทรวงฯ เพื่อมาทำร้ายชาวบ้าน
พร้อมกันนี้ภาคี #SAVEบางกลอย จ.เชียงใหม่ ยังประกาศร่วมชุมนุมกับกลุ่มภาคี #SAVEบางกลอย และขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) ในวันที่ 8 มี.ค. 2564 นี้ ณ ทำเนียบรัฐบาล เพื่อติดตามเร่งรัดให้เกิดการแก้ไขปัญหาอย่างถึงที่สุด
สด จากข่วงประตูท่าแพ กิจกรรม #saveบางกลอย
โพสต์โดย พรรควิฬาร์ WilarParty เมื่อ วันเสาร์ที่ 6 มีนาคม 2021
สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนขอความร่วมมือนักวิชาการ-อาจารย์ ใช้ตำแหน่งประกันตัวชาวบ้าน
เพจ Human Rights Lawyers Association ของสมาคมนักกฎหมายสิทธิชน รายงานว่าจากกรณีที่เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานสนธิกำลังเข้าจับกุมชาวกะเหรี่ยงบางกลอย-ใจแผ่นดิน ออกมาจากพื้นที่ดั้งเดิมกว่า 80 คน โดยนายหน่อแอะ มีมิ และชาวกะเหรี่ยงบางกลอยจำนวน 22 คน ถูกควบคุมตัวอยู่ที่เรือนจำเขากลิ้ง และจะมีการดำเนินการเพื่อฝากขังต่อไป
โดยทางทนายความจากสมาคมนักกฎหมายสิทธิชนจะดำเนินการเพื่อขอประกันตัวชาวกะเหรี่ยงบางกลอยต่อศาล ซึ่งต้องใช้หลักประกันเป็นหลักทรัพย์คนละ 60,000 บาท ทั้งหมด 22 คน รวมเป็นเงินจำนวน 1,320,000 บาท และขณะนี้สมาคมฯ กำลังประสานกับชาวบ้านอีก 8 คนที่ถูกออกหมายจับ เพื่อให้มามอบตัวในวันจันทร์ที่ 8 มี.ค. 2564 นี้ด้วย จึงมีชาวบ้านที่จะต้องยื่นขอประกันตัวรวมแล้ว 30 คน
เนื่องจากหลักประกันมีจำนวนค่อนข้างสูง จึงต้องขอความร่วมมือจาก “นักวิชาการ/อาจารย์” โดยด่วน และไม่จำกัดจำนวน เพื่อใช้ตำแหน่งประกันตัวชาวกะเหรี่ยงบางกลอยทั้งหมด ในวันจันทร์ที่ 8 มี.ค. 2564 เวลา 09.00 น. ณ ศาลจังหวัดเพชรบุรี
หากนักวิชาการหรืออาจารย์ท่านใดประสงค์จะให้ความช่วยเหลือ สามารถติดต่อวราภรณ์ อุทัยรังษี ทนายความ ได้ที่เบอร์ 092-472-5511
จากกรณีที่เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานสนธิกำลังเข้าจับกุมชาวกะเหรี่ยงบางกลอย-ใจแผ่นดิน…
โพสต์โดย Human Rights Lawyers Association เมื่อ วันศุกร์ที่ 5 มีนาคม 2021
ทนายพร้อมชาวบ้านบางกลอย ถูกปฏิเสธการขอเข้าเยี่ยมผู้ถูกคุมขังบริเวณเรือนจำกลางเพชรบุรี
The Reporters รายงานว่าวันนี้ (6 มี.ค. 2564) เวลา 13.30 น. ชาวบ้านโป่งลึก-บางกลอยเดินทางมา ขอเข้าเยี่ยมผู้ถูกคุมขังทั้ง 22 ราย ในเรือนจำกลางเพชรบุรี (เขากลิ้ง) พร้อมด้วย น.ส.วราภรณ์ อุทัยรังสี ทนายความ ด้วยความเป็นห่วงและกังวล จากการที่ไม่ได้พบหน้าในเมื่อวานนี้ และเด็กเล็กจำนวน 3 ราย ที่ติดลงมาจากการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ แต่ไม่ได้กลับขึ้นยังหมู่บ้านพร้อมบุคคลอื่นๆ ทราบภายหลังในวันนี้ว่ามีการส่งเด็กกลุ่มดังกล่าวยังสถานสงเคราะห์บ้านกุ่มสะแก อ.เมือง จ.เพชรบุรี
แต่ชาวบ้านและทนายความไม่สามารถเข้าเยี่ยมผู้ถูกคุมขังได้เนื่องจากเป็นวันหยุด ทางด้านทนายความจาก สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) เตรียมเอกสารถึงการขอประกันตัวและแนวทางในการสู้คดีแก่ชาวบ้านในวันจันทร์นี้ ที่ศาลจังหวัดเพชรบุรี
นางสาววราภรณ์ อุทัยรังษี ทนายสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) ให้สัมภาษณ์ว่าได้มาเยี่ยมชาวบ้านทั้ง 22 คน แต่ไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ให้เข้าเยี่ยมเนื่องจากเป็นวันเสาร์ มีความต้องการจะพูดคุยกับผู้ถูกคุมขังในฐานะลูกความ การเซ็นเอกสารสำเนาคดี พูดคุยในเรื่องการประกันตัว แนวทางการสู้คดีอีกด้วย รวมถึงสภาพจิตใจของผู้ถูกคุมขังด้วย เนื่องจากเมื่อวานนี้ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าสู่กระบวนการชั้นสอบสวนเพราะเจ้าหน้าที่อ้างว่าไม่ใช่ทนายที่ชาวบ้านร้องขอ
“ญาติพี่น้องหลายคนเป็นห่วงในเรื่องการเป็นอยู่เพราะไม่ได้พบเจอเลยตั้งแต่มีการสอบสวนที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ที่ไม่อนุญาตให้ชาวบ้านบางกลอยล่างเข้าพบเจอ หรือสังเกตการณ์ในการสืบสวนชาวบ้าน ในส่วนของสุขภาพยังโอเค แต่สภาพจิตใจนั้นทางเจ้าหน้าที่ได้เล่าว่า ได้ผู้ต้องขังหญิงรายหนึ่งรู้สึกไม่ดีที่ถูกจับกุมตัว โดยเจ้าหน้าที่ทำการดูแลให้ตลอด ซึ่งการควบคุมเข้าห้องขังในขนาดนี้เป็นห้องกักตัวตามมาตราโควิด-19 คือแบ่งชาย 15 คน ผู้หญิง 7 คน เป็นแบบห้องรวม” น.ส.วราภรณ์ ทนายความ กล่าว
ทั้งนี้ในกลุ่มผู้ถูกคุมขังหญิง 2 ราย มีลูกเล็ก อายุ 1-2 ขวบ จำนวน 3 ราย ติดลงมาที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน แต่ยังไม่มีใครพบ ซึ่งมีการติดต่อทางเจ้าหน้าที่อุทยานพบว่ามีการส่งไปยังบ้านกุ่มสะแก กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ แต่ในวันนี้ไม่สามารถเข้าพบได้เนื่องจากเป็นวันหยุดด้วย
นางสาววราภรณ์ ยังเผยถึงเรื่องราวจากผู้ช่วยพัศดีว่า ในเรื่องระเบียบการตัดผมตามกฎของผู้คุมขัง ก็มีบางส่วนที่ได้ตัดผมตามกฎไปแล้ว โดยทำการยกเว้น 2 ราย หนึ่งในนั้นคือ “พะตี่หน่อแอะ มีมิ” และหลาน ของปู่คออี้ ที่ไว้ผมยาวมาตลอดชีวิตตามความเชื่อและวิถีชีวิต รวมถึงคดีนี้ทางสมาคมได้มีการเสนอต่อรัฐบาลมาตลอด โดยจะมองเพียงกฏหมายอุทยานไม่ได้ ต้องมองถึงวิถีชีวิตด้วย ซึ่งอยากให้รัฐบาลยอมรับในตรงนี้ว่ากลุ่มผู้คนเหล่านี้มีการอาศัย และทำกินอยู่ในป่าตามจริง ถ้าต้องการที่จะแก้ปัญหาก็อยากให้ยอมรับในตรงนี้กันเสียก่อน
นอกจากนี้ในส่วนหมายจับนั้นมีชาวบ้านถูกดำเนินคดีถึง 30 ราย ถูกคุมขังแล้ว 22 ราย โดย 8 รายที่เหลือ ทนายความเตรียมพูดคุยถึงการเข้ามอบตัวแก่เจ้าหน้าที่ เพื่อหาแนวทางดำเนินการต่อสู้คดี พร้อมกับผู้ถูกคุมขังทั้ง 22 ราย
น.ส.วราภรณ์กล่าวถึงเรื่องการประกันตัวว่า เบื้องต้นที่ทราบจากพนักงานสอบสวน การประกันตัว จะต้องใช้วงเงินถึง 6 หมื่นบาทต่อคน รวมแล้วกว่า 1 ล้านบาท ซึ่งได้มีการประสานถึงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และนักวิชาการบางท่านเพื่อขอความช่วยเหลือบ้างแล้ว จะมีการยื่นประกันตัวในวันจันทร์ที่ 8 มี.ค. 2564 ต่อศาลจังหวัดเพชรบุรีต่อไป
จนถึงเวลานี้ สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ยังไม่ทราบรายละเอียดว่าชาวบ้านทั้ง 22 รายนั้นให้การรับสารภาพ หรือการปฏิเสธข้อกล่าวหาอย่างไรบ้าง นอกจากนี้ทางทีมทนายความได้มีการติดต่อขอข้อมูลต่อพนักงานสืบสวนแล้วแต่ยังได้รับการปฏิเสธ ได้รับเพียงเอกสารคำร้องขอฝากขังของพนักงานสอบสวนมาเท่านั้น