วันที่ 20 ต.ค.65 นายแพทย์ศราวุฒิ สุจริตธรรม โฆษกสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 18-19 ตุลาคม 2565 สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม ได้ร่วมกับ จังหวัดเชียงใหม่ องค์การแพลน อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กรมสอบสวนคดีพิเศษ และหน่วยงานในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ดำเนินการตรวจสารพันธุกรรมบุคคล ตามโครงการตรวจพิสูจน์สารพันธุกรรมแก่ราษฎรไร้สถานะและประสบปัญหาสถานะทางทะเบียนราษฎร ประจำปีงบประมาณ 2566 เพื่อนำผลการตรวจประกอบการพิจารณาแก้ไขปัญหาสถานะทางทะเบียนราษฎรในพื้นที่ 14 อำเภอ ของจังหวัดเชียงใหม่ ได้แก่ อำเภอแม่อาย อำเภอฝาง อำเภอไชยปราการ อำเภอเชียงดาว อำเภอพร้าว อำเภอดอยสะเก็ด อำเภอแม่แจ่ม อำเภอเมืองเชียงใหม่ อำเภอแม่ริม อำเภอแม่แตง อำเภอหางดง อำเภอดอยเต่า อำเภอเวียงแหง และอำเภอสะเมิง โดยตรวจสารพันธุกรรมให้กับบุคคลผู้ผ่านการพิจารณาจากสำนักทะเบียนพื้นที่ กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย โดยไม่มีค่าใช้จ่าย จำนวนทั้งสิ้น 250 ราย
นายแพทย์ศราวุฒิ กล่าวอีกว่า สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ให้ความสำคัญต่อการบริการตรวจพิสูจน์สารพันธุกรรมแก่ราษฎรไร้สถานะและประสบปัญหาสถานะทางทะเบียนราษฎรอย่างต่อเนื่อง ตามบริบทที่เหมาะสมประมาณ 1,600-2,000 ราย ต่อ ปี เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนที่ประสบปัญหาดังกล่าว
ขณะที่ พันตำรวจตรี สุริยา สิงหกมล ที่ปรึกษาเฉพาะด้านนโยบายและการบริหารงานยุติธรรม สำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรม รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันผลการตรวจสารพันธุกรรม ยังคงมีความจำเป็นและถูกนำมาใช้เป็นหลักฐานสำคัญอย่างยิ่ง เพื่อประกอบการพิจารณาให้ได้มีสถานะทางทะเบียนราษฎรและการแก้ไขปัญหาทางทะเบียนราษฎรได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งส่งผลต่อสิทธิความเป็นคนไทย การได้รับความคุ้มครองและสิทธิสวัสดิการจากภาครัฐ เช่น การเข้าถึงสิทธิบัตรสวัสดิการแห่งรัฐสิทธิด้านการศึกษา การทำงานได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ถูกกดค่าจ้าง ไม่เป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์ อีกทั้งเป็นการป้องกันปัญหาอาชญากรรม และปัญหายาเสพติด
“ส่วนกลุ่มผู้สูงอายุ ก็จะได้รับสิทธิสวัสดิการจากภาครัฐต่าง ๆ เช่น เบี้ยยังชีพ กลุ่มผู้พิการ จะได้รับสิทธิสวัสดิการจากภาครัฐในการดูแลผู้พิการ เช่น สิทธิการรักษาพยาบาลอันจะส่งผลต่อคุณภาพชีวิต ซึ่งเป็นการลดความเหลื่อมล้ำและอำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชน อีกทั้งยังเป็นการป้องกันปัญหาการสวมตัวทำบัตรซึ่งกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ”พันตำรวจตรี สุริยา กล่าว
พันตำรวจตรี สุริยา กล่าวอีกว่า สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ตระหนักถึงความเดือดร้อนของประชาชน ซึ่งมีความจำเป็นต้องใช้ผลการตรวจสารพันธุกรรมดังกล่าว จึงได้ประสานความร่วมมือกับหลายภาคส่วนในการตรวจสารพันธุกรรมให้กับประชาชน เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนสำหรับใช้เป็นหลักฐานประกอบการพิจารณาในการแจ้งเกิดเกินกำหนด หรือ ขอเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้าน โดยประชาชนที่ประสงค์จะขอรับบริการสามารถติดต่อขอรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์บริการร่วม One Stop Service สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม โทร 02 142 3491