นอภ.แม่ริมนำตรวจศูนย์แพทย์พื้นบ้านตั้งกลางป่าสงวนถูกร้องเรียนไม่ได้รับอนุญาตเปิดสถานพยาบาล-ก่อปัญหาขยะ
เผยแพร่: ปรับปรุง: โดย: ผู้จัดการออนไลน์
เชียงใหม่ – นายอำเภอแม่ริมนำ จนท.เกี่ยวข้องทั้งสาธารณสุขและป่าไม้ พร้อมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เข้าตรวจสอบศูนย์การเรียนรู้การแพทย์พื้นบ้านและการแพทย์ชนเผ่ากลางพื้นที่ป่าสงวน หลังรับร้องเรียนเปิดสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับอนุญาต รวมทั้งก่อปัญหาขยะและจัดการของเสีย เบื้องต้นพบไม่ได้รุกป่า แต่ประเด็นเปิดสถานพยาบาลยังต้องเช็กละเอียด หากเข้าข่ายผิดกฎหมายข้อใดต้องดำเนินการ ขณะที่ ผอ.ศูนย์ฯ อ้างเป็นแหล่งเรียนรู้ เชื่อถูกร้องเรียนกลั่นแกล้งจากผู้เสียประโยชน์
ช่วงบ่ายวันนี้ (22 ก.พ. 66) นายภควัต ขันธหิรัญ นายอำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สาธารณสุขอำเภอ เจ้าหน้าที่ป่าไม้ และเจ้าหน้าที่เทศบาลตำบลขี้เหล็ก เข้าตรวจสอบพื้นที่กลางป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่ริม บ้านป่าแง หมู่ 7 ตำบลขี้เหล็ก อำเภอแม่ริม หลังได้รับการร้องเรียนผ่านศูนย์ดำรงธรรมอำเภอ รวมทั้งร้องเรียนตรงไปถึงกระทรวงสาธารณสุขว่าพื้นที่ดังกล่าวมีการเปิดให้บริการรักษาโรคในลักษณะเป็นสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับอนุญาต รวมทั้งยังมีปัญหาทิ้งน้ำเสียและขยะติดเชื้อสร้างปัญหาให้แก่ชาวบ้าน ซึ่งเบื้องต้นจากการตรวจสอบพบสถานที่ดังกล่าวติดตั้งป้ายระบุว่าเป็น “ศูนย์การเรียนรู้การแพทย์พื้นบ้านและการแพทย์ชนเผ่า สมุนไพรนวลจันทร์” มีหนังสือจดแจ้งเป็นเครือข่ายวัฒนธรรม ปราชญ์ชาวบ้าน เลขที่ 103/2564
โดยในพื้นที่มีอาคารชั้นเดียวหนึ่งหลัง ภายในเปิดโล่ง มีเตียงสำหรับการรักษาประมาณ 20 เตียง มีผู้ที่เข้าไปรักษาทั้งที่นอนอยู่บนเตียงและนั่งเก้าอี้รอการรักษาเกือบ 20 คน ในอาคารมีป้ายระบุว่าศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้เปิดทำการมาตั้งแต่ปี 2556 ให้บริการรักษาอาการเจ็บป่วยด้วยวิธีการแพทย์พื้นบ้านเพื่อบรรเทาทุกข์และลดค่าใช้จ่ายของผู้ป่วยในการรักษาจากแพทย์แขนงต่างๆ แล้วไม่ดีขึ้นและต้องเสียค่าใช้จ่ายไปเป็นจำนวนมาก ซึ่งจากการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขพบว่ามีการให้บริการตรวจวินิจฉัยอาการและรักษา รวมทั้งมีอุปกรณ์เครื่องใช้ในการรักษาจำนวนหนึ่ง รวมทั้งยังมีการจัดทำเวชระเบียนผู้ป่วยไว้ด้วย โดยนอกจากเปิดให้การรักษาผู้ป่วย ยังมีการเปิดเป็นศูนย์ดับไฟป่าพญาอินทรีแม่ริม มีรถติดสติกเกอร์และไฟไซเรนจอดอยู่อีก 2 คัน
ทั้งนี้ นายประเดิม ส่างเสิน อายุ 53 ปี ผู้อำนวยการศูนย์ฯ ยืนยันกับเจ้าหน้าที่ว่า สถานที่แห่งนี้ไม่ได้เปิดเป็นสถานพยาบาล แต่เป็นศูนย์เรียนรู้ ซึ่งผู้ที่มารักษาจะได้องค์ความรู้กลับไปรักษาตัวเองที่บ้าน โดยผู้ป่วยที่มารักษาก็ต้องมารับบัตรคิวและทำประวัติ ตรวจสอบอาการเพื่อรักษา โดยยอมรับว่ามีการเก็บเงินค่ารักษา แต่หากไม่มีเงินมาก็สามารถพูดคุยตกลงกันได้ เช่น เข้าร่วมเป็นจิตอาสาช่วยเหลือกัน ส่วนวิธีการรักษาก็คือการนวด กดเส้น นอนยา แช่ยา ฝังยา เผายา เหยียบเหล็กแดง ย่ำขาง ด้วยสมุนไพร ซึ่งยืนยันว่าไม่ได้เป็นสถานพยาบาลที่ต้องขออนุญาต ส่วนการถูกร้องเรียนนั้น เชื่อว่าน่าจะเนื่องมาจากการทำงานของตนเองที่เป็นหมอพื้นบ้านที่ต้องทำควบคู่ไปกับการรักษาป่าไม้ เพราะหากไม่มีป่าก็ไม่มีสมุนไพร ทำให้อาจจะมีผู้เสียผลประโยชน์ในเรื่องป่า โดยในปี 2564 เคยถูกร้องเรียนมาครั้งหนึ่งจนมีเจ้าหน้าที่เข้ามาตรวจสอบและสั่งระงับไปช่วงหนึ่ง
ด้านนายอำเภอแม่ริมบอกว่า มีการร้องเรียนเข้ามาหลายประเด็น เรื่องแรกเป็นกรณีการเข้าไปบุกรุกครอบครองพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ เรื่องนี้ตรวจสอบแล้วพบว่าพื้นที่ป่าผืนนี้เป็นป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่ริม ต่อมากรมส่งเสริมการเกษตรและสหกรณ์ได้รับอนุญาตให้เข้ามาใช้ประโยชน์ในพื้นที่ประมาณ 8,200 ไร่ โดยอยู่ระหว่างการจัดสรรพื้นที่ให้สมาชิกสหกรณ์ราว 700 รายได้เข้ามาทำกิน ภายใต้วัตถุประสงค์เพื่อการเกษตร ประเด็นนี้จึงไม่มีปัญหาเพราะอยู่ระหว่างการแบ่งเขตจัดสรรพื้นที่ของกรมส่งเสริมการเกษตรและสหกรณ์ อีกประเด็นคือการเปิดสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งมีการอ้างว่าเป็นการให้บริการรักษาแบบแพทย์พื้นเมือง ไม่ได้เป็นแพทย์แผนไทยหรือแผนปัจจุบันที่ต้องขออนุญาต เรื่องนี้ได้มอบหมายให้สาธารณสุขอำเภอตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อดูว่าเข้าข่ายผิด พ.ร.บ.สถานพยาบาล, พ.ร.บ.สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ หรือ กฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องหรือไม่ หากพบว่ามีความผิดก็จะต้องถูกดำเนินคดี ส่วนเรื่องการปล่อยน้ำเสีย และขยะติดเชื้อ พบว่ามีการทำสัญญากับบริษัทเอกชนในการกำจัดขยะติดเชื้อจากพื้นที่ดังกล่าวแล้ว