เผยแพร่: ปรับปรุง: โดย: ผู้จัดการออนไลน์
มช. สร้างมุมมองใหม่ ใช้เทคโนโลยีปรากฏการณ์แสง ฟื้นรูปร่างต่อยอดดั้งเดิมให้ “เจดีย์หลวง” พระธาตุโบราณสูงที่สุดในเชียงใหม่ เพื่อเปิดมิติการรับรู้ใหม่ต่อยอดองค์เจดีย์หลวงให้กลับมามีความสมบูรณ์แบบยิ่งใหญ่เหมือนดังในอดีตอีกครั้ง
อีกหนึ่งมนต์เสน่ห์ของเมืองเชียงใหม่ที่ไม่กล่าวถึงไม่ได้ คือความสวยงามของสถาปัตยกรรม วัดวาอารามศิลปะล้านนาที่อยู่คู่กับชีวิตของชาวเชียงใหม่มานาน ความเจริญของพระพุทธศาสนาในดินแดนล้านนาที่เรายังสามารถเห็นได้ทั่วไปทั้งในตัวเมืองและนอกเมือง
สำหรับ “วัดเจดีย์หลวง” ก็เป็นอีกหนึ่งสถานที่สำคัญที่ทำให้เราได้เห็นถึงความยิ่งใหญ่ทั้งด้านสถาปัตยกรรมล้านนาและพระพุทธศาสนาไปควบคู่กัน
อย่างไรก็ดีด้วยข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่จารึกไว้ว่าได้เกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในจังหวัดเชียงใหม่ ทำให้ยอดพระเจดีย์หลวงหักพังทลายลงมา โดยคงลักษณะของเจดีย์ที่ยอดหักพังเช่นนี้มาจนถึงปัจจุบัน
ด้วยเหตุนี้ทาง “มหาวิทยาลัยเชียงใหม่” จึงได้ทำการทดลองนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยสร้างปรากฏการณ์แสง เพื่อเปิดมิติการรับรู้ใหม่ต่อยอดองค์เจดีย์หลวงให้กลับมามีความสมบูรณ์แบบยิ่งใหญ่เหมือนดังในอดีตอีกครั้ง
การทดลองสร้างผลงานในครั้งนี้ เป็นความร่วมมือระหว่าง มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยศูนย์นวัตกรรมล้านนาสร้างสรรค์ (CLIC) คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ กรรมาธิการสถาปนิกล้านนา สมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งได้วางเป้าหมายสำคัญในงานสถาปนิกล้านนา’64 และร่วมค้นหาวิธีการสร้างมุมมองใหม่ต่อองค์เจดีย์หลวง จากคำถามที่ว่า องค์เจดีย์หลวงในสภาพสมบูรณ์ จะมีความยิ่งใหญ่และงดงามได้เพียงใด
นั่นจึงเป็นที่มาของแนวความคิดในการใช้แสงเติมเต็มรูปทรงและสัดส่วนความสูงให้กับองค์เจดีย์หลวง ใช้เทคนิคการฉายแสงเส้นรอบรูปไปที่องค์เจดีย์ เป็นการฉายภาพ 2 มิติกลับคืนไปสู่องค์เจดีย์จริงที่เป็นวัตถุ 3 มิติ กระบวนการเล่นกับมิติด้วยปรากฏการณ์แสง ได้เริ่มต้นจากการฉายภาพเส้นรอบรูปให้ยืดยาวออกไป (Extrusion) จากจุดกำเนิดแสง (Dot) สู่การเกิดลำแสง (Line) ปรากฏเป็นระนาบแสงเสมือน (Plane) และนำไปสู่การปิดล้อมระนาบแสง จนเกิดเป็นอุโมงค์แสงเสมือน (Space) ที่ซ้อนทับลงไปกับองค์เจดีย์ที่อยู่เบื้องหน้า
นอกจากนี้ผู้ชมยังสามารถเติมเต็มความเป็นไปได้บางส่วนด้วยตัวเอง ผ่านการสร้าง “การเว้นว่าง” ให้จินตนาการของผู้ชมได้เติมเต็มความสมบูรณ์ขององค์เจดีย์ขึ้นภายในใจ
อย่างไรก็ดีแม้ว่าการทดลองนี้ยังเป็นเพียงการทดลองในขั้นเบื้องต้น แต่ผู้ชมก็สามารถได้เห็นองค์เจดีย์หลวงที่อยู่คู่เชียงใหม่มานานนับหลายร้อยปี หากเปรียบกับสภาพขององค์เจดีย์ที่เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาจนคิดว่าไม่สามารถกลับไปเห็นรูปแบบในอดีตได้อีก
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้ความสำคัญต่อการรักษาองค์ความรู้ภูมิปัญญา การอนุรักษ์และพัฒนาศิลปวัฒนธรรมล้านนาให้คงอยู่ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์เชิงรุกด้านล้านนาสร้างสรรค์ของมหาวิทยาลัย ประกอบกับความเข้มแข็งทางด้านสถาปัตยกรรมที่พร้อมจะถ่ายทอดผลงานทั้งโบราณสถานและโบราณวัตถุด้วยนวัตกรรมเชิงสร้างสรรค์ให้เป็นที่ประจักษ์ การต่อยอดแสงหลวงนี้ ถือเป็นการเติมเต็มสิ่งที่ขาดหายไปให้กลับมาสง่างามแก่ผู้พบเห็นให้ได้ชื่นชมถึงความยิ่งใหญ่ของสถาปัตยกรรมล้านนาในอดีตได้อีกครั้ง
สำหรับ วัดเจดีย์หลวงวรวิหารตั้งอยู่ใจกลางเมืองเชียงใหม่ สันนิษฐานว่าวัดแห่งนี้น่าจะสร้างขึ้นในรัชสมัยพญาแสนเมืองมา พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 7 แห่งราชวงศ์มังราย ระหว่างปี พ.ศ.1928 – 1945 ซึ่งหลังจากนั้นได้มีการบูรณะมาหลายยุคหลายสมัย
วัดเจดีย์หลวง มี “พระธาตุเจดีย์หลวง” หรือ “เจดีย์หลวง” เป็นสถาปัตยกรรมสำคัญของวัด ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นพระธาตุโบราณที่มีความสูงที่สุดในภาคเหนือ คือ สูงประมาณ 80 เมตร เมตร ฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส กว้างประมาณด้านละ 60 เมตร
เจดีย์หลวงแห่งนี้ถูกสร้างขึ้นในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 20 โดยในสมัยพญาติโลกราช โปรดให้ปรับรูปทรงเป็น แบบโลหะปราสาทของลังการูปลักษณ์ทรงเจดีย์แบบพุกาม ดัดแปลงซุ้ม ตรงสี่มุมของมหาเจดีย์ มีรูปปั้นช้างค้ำรายล้อมรอบองค์เจดีย์หลวงนั้นมี 28 เชือก
วันนี้รูปร่างของเจดีย์หลวง ได้ถูกรื้อฟื้นรูปร่างในอดีตให้คนรุ่นหลังได้เห็นผ่านเทคโนโลยีปรากฏการณ์แสง ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งความคืบหน้าของการเชื่อมปัจจุบันกับอดีตที่น่าสนใจยิ่ง