ค่ายช้างจัดงานเปิดตัวเบียร์ใหม่ “ช้างอันพาสเจอไรซ์” (Unpasteurized) เพื่อปลุกตลาดช่วงปลายปี หลังจากตลาดเริ่มฟื้นจากการหดตัวลงมากจากผลกระทบโควิดในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เจาะกลุ่มผู้บริโภคคนรุ่นใหม่และผู้ชื่นชอบทดลองเครื่องดื่มใหม่ๆ เริ่มประเดิมตลาดในจังหวัดเชียงใหม่และเชียงรายก่อนเป็นแห่งแรก
นอกจากการฟื้นตัวของตลาดเบียร์แล้ว อีกปัจจัยก็คือกระแสของคราฟต์เบียร์จากผู้ผลิตรายเล็กๆที่เริ่มนิยมดื่มกัน แม้จะมีสัดส่วนตลาดจำนวนน้อยมาก เพราะความหลากหลายรสชาติของเบียร์ในสูตรต่างๆ ที่ผู้ผลิตรายเล็กได้คัดสรรวัตถุดิบต่างๆ มาผลิตตามสไตล์ความชอบของผู้บริโภคได้เลือกกัน อาทิ รสขมมาก ขมน้อย รสหวาน บอดี้บาง ความแรงแอลกอฮอล์ เป็นต้น
ที่ผ่านมาแม้การผลิตจะเป็นเรื่องผิดกฎหมายแต่ผู้ผลิตใช้วิธีผลิตในต่างประเทศและนำเข้ากลับมาจำหน่าย และเมื่อเร็วๆนี้ รัฐบาลโดยที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติปลดล็อกขอใบอนุญาตตั้งโรงงานผลิตเบียร์ การขอใบอนุญาตลงทุนตั้งโรงงานผลิตเบียร์ขนาดเล็ก ซึ่งยังต้องผ่านกระบวนการอีกหลายขั้นตอนก็ตาม
ดังนั้น การเปิดตลาดทางเลือกใหม่ๆ ให้ผู้บริโภคของแบรนด์ช้างน่าจะเป็นกลยุทธ์ที่จำเป็นต้องดำเนินการ โดยค่ายช้างให้เหตุผลสำคัญของการแนะนำเครื่องดื่มเบียร์ชนิดใหม่ลงสู่ตลาดเพื่อการสร้างสิ่งใหม่ๆ เข้ามาสร้างสีสันเพื่อปลุกตลาดเบียร์ให้มีความคึกคักโดยเฉพาะในช่วงเทศกาลปลายปี
จากในช่วง 5 ปีก่อนหน้า ตลาดเบียร์ในไทยแทบไม่มีความท้าทาย ขณะที่มีเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมแอลกอฮอล์ใหม่ๆเกิดขึ้นในตลาดมากมาย จำต้องดึงผู้บริโภคกลับมาดื่มเบียร์ เริ่มจากเบียร์ช้างโคลด์ บูรว์ ตามด้วยเบียร์ช้าง เอสเปรสโซ่ และล่าสุด “ช้าง อันพาสเจอไรซ์” เสริมทัพตลาดเบียร์พรีเมียมที่คอเบียร์หาดื่มได้ยาก
นายเลสเตอร์ ตัน ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุดสายธุรกิจเบียร์ประเทศไทย บริษัท ช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด กล่าวว่า จากประสบการณ์ 25 ปีในอุตสาหกรรมเบียร์ ในอดีตเคยประจำที่โรงเบียร์ในประเทศมองโกเลีย ทุกเย็นจะตวงเบียร์ในกระบวนการผลิตก่อนที่จะเข้าสู่กระบวนการพาสเจอไรซ์ มาดื่มซึ่งให้รสชาติดีมาก ไม่ขม แต่หากผลิตจะติดปัญหาการนำเบียร์ออกจำหน่ายเพราะเบียร์ที่ผลิตไม่ผ่านความร้อนจะมีอายุสั้น และเก็บในอุณหภูมิเย็นตลอดเวลา มีอายุไม่เกิน 1 เดือน
ทั้งนี้ นับว่าเป็นโอกาสที่ดีที่เบียร์ช้างมีความสามารถในการผลิตและมีระบบการขนส่งพร้อมจัดส่งความสดใหม่ เบียร์ช้าง อันพาสเจอไรซ์ จึงเกิดขึ้นเป็นนวัตกรรมการผลิตรูปแบบใหม่ 3 รูปแบบ 1.ผ่านกระบวนการผลิตไม่ผ่านความร้อน เพื่อคงความหอมและสดใหม่อันเป็นเอกลักษณ์ 2.นำก๊าซไนโตรเจนมาผลิตฟองเบียร์แทนคาร์บอน ไดออกไซด์ ได้ฟองเบียร์ที่มีความละเอียดและนุ่มขึ้น 3.ใช้ขนส่งแบบโคลด์เชน (Cold Chain) ซึ่งเป็นบริษัทขนส่งในเครือไทยเบฟที่ควบคุมอุณหภูมิให้ไม่เกิน 4 องศาเซลเซียส ทันทีที่ผลิตเสร็จส่งตรงไปจำหน่ายทันทีโดยไม่มีการเก็บสต๊อก
“ช้าง อันพาสเจอไรซ์” จะถูกผลิตจากโรงเบียร์จังหวัดกำแพงเพชรที่ถือว่ามีกระบวนการผลิตแบบปลอดเชื้อด้วยเทคโนโลยีชั้นนำระดับโลก ผ่านการตรวจ สอบมาตรฐานทุกด้านอย่างเข้มงวดจนถึงการบรรจุขวด เริ่มทำตลาดที่จังหวัดเชียงใหม่และเชียงรายก่อนเพราะใช้เวลาขนส่งเพียง 4–6 ชั่วโมง เจาะร้านอาหารระดับไฮเอนด์และโรงแรมชั้นนำ เริ่มวางตลาดขวดทรงแชมเปญพรีเมียมสีเขียวขนาด 1.5 ลิตร ด้วยดีไซน์ลวดลายสีทอง ราคาจำหน่ายขวดละ 500 บาท
นายตันกล่าวว่า สาเหตุที่เลือกทำตลาดเฉพาะในเชียงใหม่และเชียงราย ก่อนเพราะทั้งสองจังหวัดเสมือนเป็นเมืองหลวงของช้าง เป็นตลาดยุทธศาสตร์ ที่ช้างมีส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับหนึ่ง ยอดขายดีมาก ผลิตภัณฑ์ที่ช้างแนะนำออกสู่ตลาดได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี อีกทั้งในช่วงเทศกาลปลายปีจะเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยว คาดว่าช้างใหม่นี้จะเสริมความแข็งแกร่งในตลาดพรีเมียม และเป็นอีกหนึ่งไฮไลต์ของนักดื่มและนักท่องเที่ยวของสองจังหวัดนี้
ค่ายช้างยังได้อัปเดตตลาดเบียร์ในประเทศ ไทย โดยดูจากฐานการชำระภาษีสรรพสามิตเบียร์ ตลาดมีมูลค่าประมาณ 200,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขก่อนผลกระทบโควิด และตลาดหดตัวลงมากในช่วงโควิดเพราะร้านอาหารถูกปิด ไม่มีการจัดอีเวนต์รวมไปถึงการจัดลานเบียร์ แต่หลังจากเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา ตัวเลขเริ่มกลับมาในระดับก่อนโควิด
การเปิดศึกตลาดฟองเบียร์ของค่ายช้างในช่วงเทศกาลปีใหม่นับว่าน่าสนใจเป็นอย่างมากเพราะนอกจากจะเป็นอีกทางเลือกแข่งขันตลาดคราฟต์เบียร์ในเชียงใหม่ที่มีความนิยมสูงมากแล้ว ยังไล่บี้เพิ่มส่วนแบ่งตลาดเบียร์ของคู่แข่งขันสำคัญจากค่ายสิงห์อีกด้วย.