ชลประทานแจง เชียงใหม่ภาพรวมปริมาณน้ำกักเก็บเกือบแตะ 100% เผยอ่างแม่ตูบ ดอยเต่า น้ำเต็มอ่างจากที่เคยมีแค่ 20% แล้งปีหน้าคาดพื้นที่เพาะปลูกมีเพิ่มขึ้นกว่า 1 แสนไร่ ยันมีน้ำให้เพียงพอ
วันที่ 18 ต.ค. 65 เวลา 10.00 น. นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานแถลงข่าวสื่อมวลชนประจำสัปดาห์เชียงใหม่สัญจร ครั้งที่ 3 ณ ห้องประชุมโครงการชลประทานเชียงใหม่ อ่างเก็บน้ำแม่จอกหลวง ต.ดอนแก้ว อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ โดยมีวาระสถานการณ์น้ำในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ โดย นายจรินทร์ คงศรีเจริญ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานเชียงใหม่ นายอภิวัฒน์ ภูมิไธสง ผู้อำนวยการส่วนจัดสรรน้ำและบริหาร สำนักงานชลประทานที่ 1 บรรจุวาระในการแถลงข่าวด้วย
นายจรินทร์ คงศรีเจริญ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานเชียงใหม่ กล่าวถึง สถานการณ์น้ำในจังหวัดเชียงใหม่ ว่า โครงการชลประทานเชียงใหม่ นอกจากดูเรื่องสถานการณ์น้ำในเขตพื้นที่ชลประทานแล้ว ก็ได้มีการดูเรื่องของพื้นที่นอกเขตชลประทานด้วย ก็มีน้ำตามลำห้วยที่มีปริมาณมากขึ้น จากปกติน้ำจะลดลงในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ ก็จะมีการยืดออกไป รวมถึงแหล่งเก็บน้ำขนาดเล็ก อ่างแก้มลิง คลอง บึง จากที่ได้รับรายงานมา จะมีปริมาณน้ำเต็มทุกที่ คาดว่าในฤดูแล้งปีนี้จังหวัดเชียงใหม่จะไม่ประสบภัยแล้ง
นายอภิวัฒน์ ภูมิไธสง ผู้อำนวยการส่วนจัดสรรน้ำและบริหาร สำนักงานชลประทานที่ 1 กล่าวว่า จากการติดตามข้อมูลศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคเหนือพบว่า ช่วงปลายเดือนตุลาคม จะมีปริมาณฝนตกลงมาอีกเพียงเล็กน้อย วันที่ 22 – 23 ตุลาคม จากสถานการณ์น้ำที่จังหวัดเชียงใหม่เป็นลุ่มน้ำปิงตอนบน เป็นแหล่งน้ำสำคัญที่จะส่งไปยังเขื่อนภูมิพล ทำให้ปริมาณน้ำในปีนี้ส่งไปเกินกว่าค่าเฉลี่ยค่อนข้างเยอะ และยังมีปริมาณน้ำไหลเข้าไปเพิ่มอีกอย่างต่อเนื่อง สำหรับสถานการณ์น้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ของจังหวัดเชียงใหม่ เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล ปริมาณน้ำปัจจุบัน 259.37 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 97.88 เปอร์เซ็นต์ เขื่อนแม่กวงอุดมธารา ปริมาณน้ำ 235.62 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 89.59 เปอร์เซ็นต์ อ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก จำนวน 19 แห่ง ปริมาณน้ำรวม 13. ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 93 เปอร์เซ็นต์ และอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก จำนวน 189 แห่ง ปริมาณน้ำรวม 83 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 84 เปอร์เซ็นต์ และแสดงให้เห็นชัดเจนว่าน้ำมีปริมาณที่มากขึ้นอย่างชัดเจนมากที่สุดคือ อ่างเก็บน้ำแม่ตูบ จากเดิมที่มีปริมาณน้ำ 20 เปอร์เซ็นต์ ปัจจุบันมีน้ำเต็ม 100 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
การจัดการน้ำฤดูแล้งจะจัดการน้ำเพื่อการอุปโภค – บริโภค โดยมีสถานีสูบน้ำเพื่อการประปา ทั้งหมด 8 สถานี ให้การเชื่อมั่นได้ว่าน้ำเพื่อการผลิตน้ำประปาเพียงพออย่างแน่นอน ส่วนที่สองเป็นการจัดสรรน้ำเพื่อรักษาระบบนิเวศน์ช่วงฤดูแล้ว ก็จะพิจารณาดูแหล่งน้ำในพื้นที่หากไม่เพียงพอจะนำน้ำจากเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชลเข้ามาเสริม ตั้งแต่อำเภอแม่แตง จนถึงทะเลสาบดอยเต่า ส่วนที่สาม จะวางแผนสำรองไว้เพื่อจะให้ถึงช่วงฤดูฝนปี 66 เผื่อมีเหตุการณ์ฝนทิ้งช่วง ก็จะได้มีน้ำสำรองไว้เพิ่ม และปริมาณน้ำเพื่อการเกษตรและการจัดสรรน้ำเพื่ออุตสาหกรรม ในภาพรวมของการบริหารจัดการน้ำในปีที่ผ่านมา จัดแผนเพื่อการเกษตร จำนวน 214,000 ไร่เศษ มีการปลูกเกินแผน ร้อยละ 5 แต่มีการจัดการบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพทำให้พื้นที่สามารถเก็บเกี่ยวได้ ไม่มีพื้นที่ขาดแคลนน้ำ สำหรับฤดูแล้งปี 65/66 จะเริ่มการเพาะปลูกในเดือนธันวาคม ปี 65 หรือต้นเดือนมกราคม ปี 66 จะมีแผนปลูกข้าวนาปรัง จำนวน 149,000 ไร่ เมื่อรวมกับพืชอื่นๆ ที่มีการปลูก รวมทั้งหมด 386,000 กว่าไร่ เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาพบว่ามีการปลูกเพิ่มขึ้น 100,000 กว่าไร่ ปริมาณน้ำในปีนี้เพียงพอสำหรับส่งให้พื้นที่การเกษตรทั้งหมด
ร่วมแสดงความคิดเห็น
- Line