คนเหนือ เสี่ยงสารเคมีในผักสูงสุด ‘เชียงใหม่’ ติดอันดับ 1 ตกค้างกว่า 70%
เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม ที่กาดต่อนยอน ชุมชนโหล่งฮิมคาว อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ นางประภาศรี บุญวิเศษ กรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สสส. มีเป้าหมายให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างเท่าเทียม สานพลังภาคีเครือข่ายดำเนินการพัฒนาองค์ความรู้ ฐานข้อมูล กระบวนการพัฒนาต้นแบบพื้นที่อาหารปลอดภัยมาอย่างต่อเนื่อง
เชียงใหม่ เป็นจังหวัดที่พบสารเคมีตกค้างในเลือดสูงเป็นอันดับ 1 ของภาคเหนือ จึงต้องเร่งดำเนินโครงการฯ เพื่อสร้างความรอบรู้ด้านอาหาร ให้เกษตรกรผู้ปลูกพืชผลอินทรีย์ร่วมมือกับร้านอาหาร ตลาด โรงแรม โรงเรียน พัฒนาแหล่งอาหารปลอดภัยในชุมชน ช่วยผู้บริโภคเลือกซื้ออาหารที่มีโภชนาการที่เหมาะสม นำไปสู่เป้าหมายการพึ่งพาตนเอง สร้างอาหารจากการปลูกผักที่ปลอดภัยด้วยตนเองได้
“แนวทางการสร้างเสริมสุขภาพจากเกษตรกรสู่ผู้บริโภค ช่วยผลักดันห่วงโซ่อาหารปลอดภัยในภาวะวิกฤต โดยผลักดันกระบวนการให้เข้าสู่ภารกิจของหน่วยงาน จ.เชียงใหม่ ใช้เป็นแนวทางสร้างกระบวนการทดสอบการตกค้างของสารเคมีในพืชผัก เป็นเครื่องมือสร้างพื้นที่อาหารที่ปลอดภัยให้กับชุมชนและผู้บริโภค ที่จะนำไปสู่ความมั่นคงทางอาหาร ผลักดันให้เกิดนโยบาย ขับเคลื่อนสร้างความรอบรู้ด้านอาหารให้กับคนเชียงใหม่และพื้นที่ภาคเหนือได้อย่างแท้จริง นำไปสู่ 1 ใน 9 พื้นที่ต้นแบบสร้างนวัตกรรมกลไกอาหารปลอดภัยของ สสส. ส่งต่อไปสู่พื้นที่อื่นๆ” นางประภาศรีกล่าว
ด้าน รศ.ดร.วินิตา บุณโยดม รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) กล่าวว่า ภาคเหนือ เป็นภาคที่มีสารเคมีตกค้างในร่างกายประชาชนระดับเสี่ยงและไม่ปลอดภัยสูงสุดมากว่า 10 ปี ในปี 2565 มีสารเคมีตกค้าง 70.3% ภาคใต้ 58.65% ภาคกลางและภาคตะวันออก 41.19% ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 37.14% มช. สานพลัง สสส. และภาคีเครือข่าย ริเริ่มโครงการสร้างเสริมสุขภาพจากเกษตรกรสู่ผู้บริโภคและกลุ่มผู้เปราะบาง ในช่วงภาวะวิกฤต พร้อมทั้งผลักดันระบบห่วงโซ่อาหารอย่างครบวงจรเข้าสู่ภารกิจของหน่วยงานในพื้นที่เชียงใหม่ เร่งขับเคลื่อนการทำงานด้านอาหารปลอดภัย สร้างความรอบรู้ด้านอาหารแก่ผู้บริโภค ลดการตกค้างของสารเคมีทั้งในผักที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ มุ่งเป้าให้เชียงใหม่เป็นเมืองอาหารปลอดภัยอย่างแท้จริง
“การจัดเทศกาล Green Your Food ครั้งนี้ เปิดพื้นที่ให้คนทำงานในด้านธุรกิจอาหารปลอดภัย ร่วมแบ่งปันความรู้ แนวคิด ขับเคลื่อนการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับจานอาหารของผู้บริโภค พร้อมเปิดตัวนวัตกรรม Green Farm ระบบเชื่อมโยงกลุ่มเกษตรกรที่มีผักผ่านมาตรฐานการตรวจสอบ เพื่อให้ร้านอาหารมีแหล่งซื้อผักอินทรีย์ในราคาต้นทุน นอกจากทำให้เกษตรกรมีรายได้ที่มั่นคง ยังช่วยลดปัญหาผลผลิตล้นตลาด พร้อมพัฒนานวัตกรรม Green Kitchen, Green Distribution ตราสัญลักษณ์เพื่อการันตีมาตรฐานสำหรับร้านอาหาร/ศูนย์การค้าที่มีวัตถุดิบที่ปลอดภัย เป็นกำลังใจให้กับร้านอาหารที่ให้ความร่วมมือส่งต่ออาหารเพื่อสุขภาพแก่ผู้บริโภค มีผู้ผ่านเกณฑ์มาตรฐานได้รับตราสัญลักษณ์ Green Farm, Green Kitchen, Green Distribution กว่า 100 ราย” รศ.ดร.วินิตา กล่าว
ศ.ดร.พวงรัตน์ ขจิตวิชยานุกูล อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ มช. และผู้จัดการโครงการฯ กล่าวว่า พืชผักในเชียงใหม่ที่มีการตกค้างของสารเคมี 5 อันดับแรก คือ คะน้า ผักกาดขาว มะเขือเทศ กระเพรา พริกขี้หนู ส่งผลให้ระดับสารเคมีในเลือดของอาสาสมัคร 189 คน อยู่ในระดับเสี่ยงถึง 56.25% ระดับไม่ปลอดภัย 28.08% แต่ระดับปลอดภัยและปกติ อยู่ที่ 9.18 และ 6.49 เท่านั้น การสานพลังความร่วมมือครั้งนี้ ช่วยสร้างความสามารถในการพึ่งพาตนเองในการสร้างพื้นที่อาหารของชุมชน ให้ทุกคนเข้าถึงและได้รับอาหารที่มีโภชนาการสูง ที่สำคัญยังช่วยเกษตรกรที่ปลูกพืชผลที่ปลอดภัยมีรายได้ที่มั่นคง สร้างอาชีพกลุ่มคนเปราะบางสามารถในการพึ่งพาตนเอง เกิดความรอบรู้ด้านอาหาร รู้แหล่งพื้นที่อาหารใกล้บ้าน เลือกซื้ออาหารที่มีโภชนาการที่เหมาะสม ส่งผลต่อสุขภาพที่ดีให้กับคนเชียงใหม่ในระยะยาว