เยือนหมู่บ้านที่มีบรรยากาศของการทำเครื่องปั้นดินเผาอยู่แทบทุกหลังคาเรือน และกลายเป็นสินค้าขึ้นชื่อประจำหมู่บ้านและผลิตภัณฑ์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุด คือ หม้อน้ำที่มีปากแคบ ตรงกลางปล่อง ก้นสอบ และมีฝาปิด ซึ่งบริเวณไหล่หม้อน้ำนั้นจะมีการแกะลวดลายอย่างสวยงาม นอกจากนี้บ้านเหมืองกุงยังได้รับการจัดตั้ง ให้เป็นหมู่บ้านหัตถกรรม OTOP เพื่อการท่องเที่ยว เมื่อปี พ.ศ. 2538 ทำให้เป็นที่รู้จักในหมู่นักท่องเที่ยว ตลอดจนหน่วยงานต่าง ๆ ที่เดินทางเข้ามาศึกษาดูงานอย่างต่อเนื่อง อดีตแห่งบ้านเหมืองกุง คำบอกเล่าของคนเฒ่าคนแก่เล่าว่า บรรพบุรุษของตนเองที่มาตั้งรกรากปักฐานอยู่ ณ หมู่บ้านเหมืองกุงแห่งนี้ เดิมเป็นคนเผ่าไทซึ่งถูกกวาดต้อนมาจากเมืองปุ เมืองสาด รัฐเชียงตุง ที่หนีจากการถูกทหารพม่ารุกราน ได้มาอาศัยอยู่ที่แห่งนี้ โดยอพยพมาเพียง 6 ครัวเรือน ซึ่งคำบอกเล่านี้สอดคล้องกับหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ เป็นลายลักษณ์อักษรต่าง ๆ เช่นตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ พงศาวดารโยนก และข้อมูลต่าง ๆ ที่กล่าวถึงการเกณฑ์กำลังคนจากพม่าและสิบสองปันนา มาสู่อาณาจักรล้านช้างหลายครั้ง พอถึงยุคฟื้นฟูเชียงใหม่ หลังจากที่ตกอยู่ในอำนาจพม่าเป็นเวลานานกว่า 2 ศตวรรษ ในปีระหว่าง พ.ศ. 2325-2356 ในสมัยที่พระเจ้ากาวิละแห่งต้นตระกูลเจ้าเจ็ดตนได้ขึ้นครองเมืองเชียงใหม่ บรรพบุรุษของบ้านเหมืองกุง ได้ถูกกวาดต้อนมาให้ตั้งรกราก ณ ที่ปัจจุบันแห่งนี้ โดยให้ทำนาเพื่อนำผลผลิตคือ ข้าวเปลือกส่งให้แก่เจ้ากาวิโรรสสุริยวงค์ ซึ่งเป็นโอรสของพระเจ้ากาวิละ เจ้าเมืองเชียงใหม่ ซึ่งบริเวณที่นาของเจ้าเมืองจะอยู่ทางทิศเหนือของหมู่บ้านเหมืองกุง พอถึงฤดูเก็บเกี่ยว ชาวบ้านจะนำข้าวเปลือกบรรทุกล้อวัวเทียมเกวียนไปส่งที่คุ้มเจ้าเมืองในตัวเมืองเชียงใหม่ ครั้นหมดฤดูทำนา ชาวบ้านจะหันมาทำเครื่องปั้นดินเผาโดยอาศัยภูมิปัญญาที่ติดตัวมา ไม่ว่าจะเป็น น้ำต้น ( คนโฑ ) หม้อน้ำ สำหรับไว้ใส่น้ำดื่มน้ำใช้ หรือขายเป็นรายได้จุนเจือครอบครัว รวมถึงใช้ในการประกอบกิจทางศาสนพิธี ที่ตั้ง : อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ โดยอยู่ห่างจากตัวจังหวัดเชียงใหม่ ไปตามเส้นทางเชียงใหม่-หางดง ประมาณ 10 กิโลเมตร และระยะทางห่างจากถนนสายวงแหวน (ทางหลวงหมายเลข 11 สนามบิน) ประมาณ 6 กิโลเมตร อยู่ก่อนถึงทางแยกตัดใหม่สายหางดง-สะเมิงเพียงเล็กน้อย