เผยแพร่:
ปรับปรุง:
เชียงใหม่ – ม.เทคโนโลยีราชมงคลล้านนาจับมือ ปภ.เชียงใหม่วิจัยพัฒนานวัตกรรมไมโครนาโนบับเบิลผลิตน้ำทดสอบฉีดพ่นลดฝุ่นควันบรรเทามลพิษอากาศในตัวเมืองเชียงใหม่ พบช่วยลด PM 2.5 ได้ถึง 50% ตั้งเป้าต่อยอดกระจายใช้งานถึงระดับชุมชน ช่วยคลี่คลายวิกฤตคุณภาพอากาศให้ชาวบ้านได้หายใจโล่งปอด
รายงานจากจังหวัดเชียงใหม่แจ้งว่า ศูนย์ไมโครนาโนบับเบิล สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ร่วมกับสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเชียงใหม่ และองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ ดำเนินการทดสอบประสิทธิภาพของน้ำไมโครนาโนบับเบิลในการช่วยลดปริมาณฝุ่นควันในอากาศ ซึ่งน้ำดังกล่าวนี้เป็นนวัตกรรมที่ผลิตด้วยอุปกรณ์ที่ศูนย์ไมโครนาโนบับเบิลวิจัยพัฒนาขึ้นมา พร้อมร่วมกับสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเชียงใหม่ในการทำการทดสอบฉีดพ่นละอองน้ำเพิ่มความชุ่มชื้นในอากาศแทนน้ำปกติที่ทำเป็นประจำอยู่แล้วในช่วงที่เกิดสถานการณ์ปัญหาหมอกควัน ไฟป่า และฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 เกินค่ามาตรฐาน ซึ่งในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาได้มีการทดสอบฉีดพ่นด้วยชุดยานยนต์ฉีดพ่นน้ำควบคุมระยะไกลในจุดสำคัญของเมืองเชียงใหม่อย่างลานประตูท่าแพ เปรียบเทียบกันระหว่างการใช้น้ำปกติและน้ำไมโครนาโนบับเบิล เบื้องต้นพบว่าน้ำไมโครนาโนบับเบิลมีประสิทธิภาพในการช่วยลดปริมาณฝุ่น PM 2.5 ลงได้ถึง 50% ส่วนน้ำปกติช่วยลดได้เพียงเล็กน้อย
ทั้งนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิษณุ ทองเล็ก หัวหน้าศูนย์ไมโครนาโนบับเบิล สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา จังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า โดยทั่วไปน้ำปกติจะไม่มีประจุไฟฟ้า ทำให้เมื่อทำการฉีดพ่นละอองฝอยออกไปในอากาศจะไม่ค่อยมีประสิทธิภาพในการดูดฝุ่นให้มาจับเกาะและตกลงมาได้แต่อย่างใด จึงไม่สามารถช่วยลดปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กที่ปนเปื้อนอยู่ในอากาศได้ ขณะที่น้ำไมโครนาโนบับเบิลที่ผ่านกระบวนการนั้นเป็นการนำน้ำปกติธรรมดามาผ่านกระบวนการของอุปกรณ์ที่วิจัยพัฒนาขึ้นมาด้วยหลักการเติมฟองอากาศขนาดเล็กทำให้โมเลกุลของน้ำมีไฟฟ้าสถิตประจุบวก ซึ่งเมื่อทำการฉีดพ่นเป็นละอองฝอยออกไปจะมีประสิทธิภาพดีกว่าในการดึงดูดให้ฝุ่นละอองขนาดเล็กเข้ามาจับเกาะและตกลงมาสู่พื้น ทำให้ปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กในอากาศลดลง
ขณะที่ ว่าที่ ร้อยตรี อลงกรณ์ ไก่แก้ว ผู้ประสานงานศูนย์ไมโครนาโนบับเบิล สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา กล่าวว่า จากการทดสอบในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาด้วยการฉีดพ่นละอองน้ำเพิ่มความชุ่มชื้นในอากาศโดยชุดยานยนต์ฉีดพ่นน้ำควบคุมระยะไกลของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปรียบเทียบกันระหว่างการใช้น้ำปกติกับน้ำไมโครนาโนบับเบิล พร้อมควบคุมปัจจัยทุกอย่างให้ใกล้เคียงกันที่สุด พบว่าในระยะเวลาทดสอบ 40 นาทีเท่ากันการฉีดพ่นละอองน้ำไมโครนาโนบับเบิลสามารถช่วยลดปริมาณฝุ่น PM 2.5 ลงจากแรกเริ่มประมาณ 50% ส่วนน้ำปกติลดได้เพียงเล็กน้อยในช่วงแรกเริ่มเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม จากนี้จะต้องทำการทดสอบเพื่อสรุปผลยืนยันประสิทธิภาพที่แน่ชัดต่อไป หากได้ผลดีพร้อมที่สนับสนุนองค์ความรู้ในการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปใช้งานจริงเพื่อบรรเทาปัญหาคุณภาพอากาศและลดฝุ่น PM 2.5 ของจังหวัดเชียงใหม่ และทุกพื้นที่ที่ประสบปัญหา โดยเครื่องมืออุปกรณ์ในการผลิตน้ำไมโครนาโนบับเบิลนั้นมีต้นทุนเพียงประมาณ 100,000 บาทเท่านั้น ซึ่งต่ำกว่าในต่างประเทศหลายเท่าตัว และเคลื่อนย้ายติดตั้งได้สะดวก อีกทั้งสามารถใช้น้ำจากแหล่งใดก็ได้มาผ่านกระบวนการของเครื่องทำให้ออกมาเป็นน้ำไมโครนาโนบับเบิล ดังนั้นจึงสามารถนำไปใช้งานในระดับพื้นที่หรือชุมชนได้ง่ายในลักษณะของรถโมบายล์ก็ได้ โดยเฉพาะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆ โดยนอกจากใช้ประโยชน์เพื่อลดฝุ่นละอองในอากาศแล้ว ยังสามารถใช้ในการบำบัดคุณภาพน้ำได้ด้วย
ด้าน นายธนา นวลปลอด หัวหน้ากลุ่มงานยุทธศาสตร์และการจัดการ สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ช่วงนี้อยู่ระหว่างการทดสอบประสิทธิภาพของน้ำไมโครนาโนบับเบิล ซึ่งเป็นผลงานนวัตกรรมของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา โดยจากการทดสอบเบื้องต้นพบว่าช่วยลดปริมาณ PM 2.5 ได้ดี ทั้งนี้ หากการทดสอบต่อเนื่องเห็นผลดีแน่ชัดและยืนยันประสิทธิภาพในเชิงประจักษ์ พร้อมที่จะนำเสนอต่อคณะกรรมการในระดับจังหวัดเพื่อประสานไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆ ให้มีการนำไปใช้งานในระดับพื้นที่ต่อไป