องค์การนักศึกษา มช. รวมพลังยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงกงสุลสหรัฐฯ เผยกรณีศาลในรัฐทหารเมียนมา ตัดสินลงโทษประหารชีวิต 7 นักศึกษา วอนทุกฝ่ายยื่นมือช่วยให้ความสำคัญ
เมื่อเวลา 13.00 น. วันนี้ (6 ธ.ค.65) กลุ่มนักศึกษาประมาณ 20 คน จากองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นำโดย นายพรชัย อนณณรักษ์หิรัญ นายกสโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ นายศิวัญชลี วัธญ์เสรีวัฒน์ ประธานสภานักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เดินทางไปรวมตัวด้านหน้าสถานกงสุลสหรัฐอเมริกา ประจำ จ.เชียงใหม่ ถนนท้ายวัง ต.ช้างม่อย อ.เมืองเชียงใหม่ เพื่อยื่นจดหมายเปิดผนึก กรณีศาลในรัฐทหารเมียนมา มีคำตัดสินลงโทษประหารชีวิต 7 นักศึกษา เพื่อผ่านไปยังเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทย เพื่อให้ชุมชนนานาชาติ ร่วมกดดันรัฐบาลเมียนมา คืนกระบวนการยุติธรรมที่โปร่งใสสู่ประชาชน โดยมีตัวแทนกงสุลสหรัฐฯเชียงใหม่ เดินทางมารับจดหมายดังกล่าว เพื่อนำไปดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง ท่ามกลางการรักษาความปลอดภัย ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เมือง เชียงใหม่
นอกจากการไปยื่นจดหมายเปิดผนึกที่สถานกงสุลสหรัฐอเมริกา ประจำ จ.เชียงใหม่ แล้ว ทางกลุ่มนักศึกษา ได้เดินทางไปยื่นถึงเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ประจำประเทศไทย และอีกหลายหน่วยงานที่เกี่ยวเนื่อง อาทิ เลขาธิการสหประชาชาติ ผู้อำนวยการสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล เลขาธิการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล นายกรัฐมนตรีประเทศไทย เลขาธิการสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) อีกด้วย
ทั้งนี้ นายศิวัญชลี วัธญ์เสรีวัฒน์ ประธานสภานักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทราบ กรณีศาลในรัฐทหารเมียนมามีคำตัดสิน เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 65 ในการลงโทษประหารชีวิต 7 นักศึกษา ในฐานะนักศึกษาและในฐานะมนุษยชาติ ไม่อาจนิ่งนอนใจต่อการใช้อำนาจของรัฐทหารเมียนมา ที่ใช้กลไกของรัฐในการเข่นฆ่าประชาชนของตนอย่างไร้มนุษยธรรม ถึงเวลาที่จะต้องเคียงข้างผู้ถูกกดขี่จากรัฐ เพื่อดำรงไว้ซึ่งเจตจำนงเสรี โดยรัฐต้องคำนึงว่าชีวิตมนุษย์มีศักดิ์ศรี แม้ว่าการลงโทษประหารชีวิต จะเป็นมาตรการที่ทำให้บรรลุวัตถุประสงค์แห่งการลงโทษ แต่เป็นมาตรการที่ส่งผลกระทบต่อสิทธิในชีวิต อันทำลายศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ทั้งนี้ชีวิตมนุษย์นั้นศักดิ์สิทธิ์เกินกว่าจะให้รัฐกำจัดทิ้งเพราะมีความเห็นต่างทางการเมือง
โดยองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีข้อเรียกร้องอันเป็นจุดยืนสำคัญอยู่ 6 ประการ ต่อชุมชนนานาชาติ โดย 1. ขอให้ร่วมกันกดดันและแทรกแซงคำตัดสินของศาลในรัฐทหารเมียนมา, เพื่อยับยั้งให้ยกเลิกการลงโทษประหาร 7 นักศึกษา และประชาชนเมียนมา ที่ถูกตัดสินลงโทษประหารชีวิตในคดีทางการเมืองอื่นๆ ด้วย 2. ให้ปล่อยตัวนักโทษการเมือง 3. คืนกระบวนการยุติธรรมที่โปร่งใสให้ประชาชนเมียนมา ไม่ใช่การตัดสินในเรือนจำหรือค่ายทหาร 4. ยุติการสนับสนุนกองทัพทหารเมียนมา ไม่ว่าจะเป็นด้านการทหาร, การลงทุนทางเศรษฐกิจ ฯลฯ. 5. ชุมชนนานาชาติต้องเปิดช่องทาง และสนับสนุนความช่วยเหลือทางมนุษยธรรม ผ่านทางองค์กรภาคประชาชน ไม่ใช่รัฐทหารเมียนมา 6. โทษประหาร ควรถูกกำจัดให้หมดไปจากรัฐสมัยใหม่ เนื่องด้วยโทษประหารเป็นความป่าเถื่อนที่ทำลาย เป็นต้น