เสริมเขี้ยวดับไฟป่าถังน้ำ-รถครัว – เชียงใหม่ – นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ระบุว่า ในปีนี้ทางกรมเตรียมความพร้อมในทุกๆ ด้าน เพื่อป้องกันแก้ไขปัญหาหมอกควันไฟป่าภาคเหนือ ที่นอกเหนือจากการเตรียมความพร้อมด้านกำลังพลแล้วยังมีในเรื่องของเครื่องมือ และสิ่งสำคัญคือน้ำที่ใช้ในการดับไฟ ซึ่งปีนี้มีการนำเทคโนโลยีและองค์ความรู้พัฒนาเป็นนวัตกรรมและอุปกรณ์ต่างๆ ที่ช่วยทำให้สามารถใช้น้ำที่มีในการดับไฟและป้องกันปัญหาไฟป่าได้อย่างเกิดประโยชน์สูงสุด อาทิ ถังน้ำดับไฟป่าเคลื่อนที่ ซึ่งเคลื่อนย้ายได้ง่าย มีศักยภาพในการพ่นน้ำดับไฟได้ไกลถึง 3 กิโลเมตรบนสันเขา ส่วนถ้าเป็นแนวราบจะฉีดพ่นน้ำได้ไกลประมาณ 5 กิโลเมตร รวมทั้งเข้าถึงพื้นที่ที่ห่างไกลและยากลำบากได้มากขึ้น
ช่วยเหลือ – นายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ ผู้ว่าฯ เชียงใหม่ เป็นประธานในพิธีมอบเงินกองทุนเงินช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัย สำนักนายกรัฐมนตรีให้กับครอบครัวผู้เสียชีวิต และผู้บาดเจ็บจากการปฏิบัติภารกิจดับไฟป่า จังหวัดเชียงใหม่ ที่ศูนย์บัญชาการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5
ขณะเดียวกันมีการใช้แผนบริหารจัดการเชื้อเพลิงควบคู่กันไปด้วย โดยทำการจัดเก็บเชื้อเพลิงในป่าผลิตเป็นปุ๋ยหมักด้วยน้ำจุลินทรีย์ และมีการสนับสนุนงบประมาณในการจัดจ้างให้ประชาชนในพื้นที่ร่วมกันทำแนวกันไฟด้วย นอกจากนี้ยังมีการนำเครื่องอัดใบไม้โดยใช้เครื่องยนต์มาใช้ รวมถึงภูมิปัญญาพื้นบ้านนำเสวียนมาใช้เก็บใบไม้แห้ง สนองนโยบายชิงเก็บลดเผา นำเสวียนมาดัดแปลงใช้เก็บน้ำชั่วคราว ตลอดจนมีการนำจุลินทรีย์จิตอาสา ที่ศูนย์อำนวยการใหญ่จิตอาสาพระราชทานนำมามอบให้ มาทำเป็นปุ๋ยหมักแบบไม่กลับกอง โดยใช้ผสมน้ำรดลงไปบนเศษใบไม้ ให้ทับถมกันจนกลายเป็นปุ๋ยหมัก นำไปใช้ประโยชน์ต่อไป
พร้อมกันนี้ในปีนี้มีการนำรถครัวสนามเคลื่อนที่มาใช้ด้วยในการปฏิบัติงานดับไฟป่า เพราะตระหนักดีว่าการประกอบอาหารเพื่อเลี้ยงกำลังพลถือเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง
ทั้งนี้ ขอย้ำว่าการปฏิบัติงานของกรมอย่างเดียว ย่อมเป็นไปไม่ได้ที่จะประสบความสำเร็จในการป้องกันแก้ไขปัญหาหมอกควันไฟป่าของภาคเหนือ โดยมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องร่วมมือและสนับสนุนซึ่งกันและกัน จากทั้งประชาชน และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การทำงานจึงจะประสบความสำเร็จ โดยหากการป้องกันแก้ไขปัญหาสำเร็จแล้ว เชื่อมั่นว่าจะส่งผลดีต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของภาคเหนืออย่างแน่นอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากผ่านพ้นสถานการณ์โควิด-19 แล้ว
โดยดำเนินการวางแผนการบริหารจัดการเชื้อเพลิงในห้วงเดือนมกราคม-เมษายนไว้ไม่เกิน 500,000 ไร่ และ จุดความร้อนลดลงจากปี 2563 กว่า 1,200 จุด