รศ.ดร.ลินจง โปธิบาล อดีตผู้บริหาร และ อาจารย์อาวุโส คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผ่านการพิจารณาคัดเลือกให้ได้รับรางวัลศิษย์เก่าดีเด่น เนื่องในวันมหิดล ประจำปี 2564 โดยจะเข้ารับรางวัลโล่ประกาศเกียรติคุณ วันศุกร์ที่ 24 กันยายน 2564 ในพิธีเทิดพระเกียรติสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก เนื่องในวันมหิดล ประจำปี 2564 ณ ห้องประชุมชั้น 2 อาคารเรียนรวม คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
รศ.ดร.ลินจง โปธิบาล อายุ 67 ปี รหัสประจำตัวนักศึกษา 147822 สำเร็จการศึกษาวิทยาศาสตรบัณฑิต (พยาบาล) (เกียรตินิยมอันดับสอง) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (การพยาบาลอายุรศาสตร์และศัลยศาสตร์) มหาวิทยาลัยมหิดล และ D.S.N. (Adult Health) University of Alabama at Birmingham สหรัฐอเมริกา ปัจจุบันเป็นข้าราชการบำนาญ และ ประธานคณะกรรรมการจริยธรรมการวิจัย คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เคยดำรงตำแหน่งเป็นรองคณบดีฝ่ายวิชาการ/ฝ่ายบัณฑิตศึกษาและวิจัย และ หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศทางการพยาบาล คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
เป็นอาจารย์ผู้สอนวิชาการด้านวิจัยทางการพยาบาลและการพยาบาลผู้สูงอายุขั้นสูงแก่นักศึกษาหลักสูตรปริญญาโท และสอนกระบวนวิชาการวิจัยเชิงปริมาณขั้นสูงสำหรับนักศึกษาหลักสูตรปริญญาเอกมาโดยตลอดจนเกษียณอายุราชการ ด้วยความเชี่ยวชาญดังกล่าวจึงได้รับมอบหมายให้เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์หลัก และอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ร่วมแก่นักศึกษาระดับปริญญาโท รวมทั้งเป็นประธานคณะกรรมการที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์แก่นักศึกษาระดับปริญญาเอกของคณะ จากการถ่ายทอดความรู้ด้านการวิจัยแก่นักศึกษามาอย่างต่อเนื่องส่งผลให้นักศึกษามีความรู้และทักษะด้านการวิจัย สามารถทำการวิจัยเพื่อพัฒนาวิชาชีพอย่างยั่งยืน มีผลงานวิจัยที่ตีพิมพ์ร่วมกับนักศึกษาในวารสารวิชาการระดับชาติและระดับนานาชาติ
ด้านการวิจัย ได้ดำเนินการวิจัยในด้านการพยาบาลผู้ใหญ่ และผู้สูงอายุมาโดยตลอดอย่างสม่ำเสมอ งานวิจัยที่ได้ดำเนินการได้รับทุนสนับสนุนจากคณะและจากองค์กรภายนอก ตัวอย่างเช่น โครงการวิจัยเรื่องความชุกของปัจจัยเสี่ยงภาวะเสี่ยงและการรับรู้ภาวะเสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจของประชากรจังหวัดเชียงใหม่ ได้รับการสนับสนุนจากองค์การอนามัยโลก โครงการวิจัยเรื่องการพัฒนาแบบคัดกรองผู้สูงอายุที่ต้องพึ่งพิงสำหรับอาสาสมัครประจำหมู่บ้านซึ่งได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิสถาบันวิจัยผู้สูงอายุไทย
รวมทั้งยังได้ทำการวิจัยการดูแลผู้สูงอายุที่เจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรัง การพัฒนาระบบการดูแลและป้องกันการเจ็บป่วยในผู้สูงอายุอย่างต่อเนื่อง เช่น โครงการ เอชไอวี/เอดส์และผู้สูงอายุในจังหวัดเชียงใหม่ โดยการสนับสนุนจากกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ และโครงการการเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยใช้หลักฐานเชิงประจักษ์ ใน 3 จังหวัดภาคเหนือได้แก่ เชียงใหม่ ลำปาง และแม่ฮ่องสอนซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ โดยเป็นโครงการที่สร้างความร่วมมือระหว่างบุคลากรสหสาขาวิชาชีพทั้งในด้านสุขภาพและสังคม จากองค์กรภาครัฐ (GO) เช่น กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการคลัง กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงแรงงาน และสภาพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจแห่งชาติ และองค์กรที่มิใช่ภาครัฐ (NGO) เช่น องค์การช่วยเหลือผู้สูงอายุระหว่างประเทศ (HelpAge International) และมูลนิธิพัฒนางานผู้สูงอายุ (FOPDEV) ในการผลักดันรูปแบบการดูแลระยะยาวให้ไปสู่นโยบายสาธารณะในพื้นที่ อันก่อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้สูงอายุและชุมชน
นอกจากนี้ได้ทำการวิจัยเรื่องการพัฒนาศูนย์การดูแลระยะกลางแบบเบ็ดเสร็จสำหรับผู้สูงอายุ โดยการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ดำเนินการร่วมกับโรงพยาบาลระดับทุติยภูมิและตติยภูมิ ผู้ร่วมวิจัยเป็นบุคลากรสหสาขาวิชาชีพของโรงพยาบาล และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล เป็นรูปแบบที่พัฒนาขึ้นเพื่อส่งเสริมให้ผู้ป่วยมีการเปลี่ยนผ่านจากโรงพยาบาลสู่บ้านอย่างมีคุณภาพ และเปลี่ยนจากการพึ่งพิงด้านสุขภาพไปสู่การพึ่งพิงตนเองในการทำหน้าที่ของร่างกาย ผลการวิจัยก่อให้เกิดการดำเนินงานของศูนย์การดูแลระยะกลางแบบเบ็ดเสร็จทำให้เกิดความต่อเนื่องของบริการจากโรงพยาบาลและบริการที่มีคุณภาพเป็นไปตามปัญหาและความต้องการของผู้มารับบริการที่เป็นผู้สูงอายุ ผู้รับบริการสามารถเข้าถึงบริการของศูนย์ได้ง่าย อีกทั้งศูนย์ยังมีระบบการส่งต่อที่ช่วยให้ผู้ป่วยได้รับบริการที่เหมาะสม ทำให้เกิดผลด้านสุขภาพของผู้รับบริการที่เป็นไปตามเป้าหมายและมีความคุ้มค่าคุ้มทุน เป็นรูปแบบที่สามารถจัดขึ้นโดยใช้สถานที่ในชุมชนโดยความร่วมมือของโรงพยาบาลและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รูปแบบนี้สามารถนำไปเป็นต้นแบบบริการการดูแลระยะกลางสำหรับโรงพยาบาลระดับตติยภูมิและทุติยภูมิ ซึ่งช่วยลดความสูญเสียจากการที่ผู้ป่วยสูงอายุต้องอยู่โรงพยาบาลนาน ลดโอกาสการกลับเข้ารับการรักษาซ้ำในโรงพยาบาลโดยไม่จำเป็น อันก่อให้เกิดผลดีต่อผู้ป่วยและโรงพยาบาล
รศ.ดร. ลินจง โปธิบาล เปิดเผยถึงความความภาคภูมิใจในรางวัลที่ได้รับครั้งนี้ ว่ารู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้รับรางวัลศิษย์เก่าดีเด่น สาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพ เนื่องในวันมหิดล ประจำปี 2564 เป็นรางวัลที่มีคุณค่าอย่างมาก และ ภาคภูมิใจที่ได้รับรางวัลนี้ การได้เป็นศิษย์เก่าของคณะฯ ได้ถูกหล่อหลอมให้รักในวิชาชีพพยาบาลและอุทิศตนในการปฏิบัติหน้าที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าส่วนตน ในฐานะข้าราชการของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ตระหนักว่าตนเองต้องใช้ความรู้ความสามารถที่มีอยู่เพื่อให้บริการแก่สังคมให้ได้มากที่สุด ทำให้ได้มุ่งปฏิบัติงานเพื่อสุขภาพของประชาชนโดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุ ด้วยความทุ่มเท มุ่งมั่น ตลอดมา การได้รับรางวัลในครั้งนี้ให้พลังและจะเป็นแรงบันดาลใจในการดำรงชีวิตอย่างมีคุณค่าและทำประโยชน์ให้แก่คณะฯ มหาวิทยาลัย สังคม และประเทศชาติให้มากยิ่งขึ้นต่อไป