มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ดัน 4 บริษัท Deep Tech Startup เข้า “อ่างแก้ว โฮลดิ้ง” เปิดระดมทุน Venture Capital หนุน Startup ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงต่อยอดสร้างมูลค่าทางธุรกิจกว่า 3,200 ล้านบาท ภายใน 3 ปี
ผศ.ดร.ธัญญานุภาพ อานันทนะ ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (STeP) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในปี 2564 กำลังเตรียมนำเสนอแผนนำ Deep Tech Startup จากงานวิจัยที่อยู่ในการบ่มเพาะของ STeP จำนวน 4 บริษัท มีมูลค่าประเมินของธุรกิจรวมประมาณ 270 ล้านบาท
เสนอต่อที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อเตรียมเสนอขอแปลงสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาเป็นทุน (IP Securitization) ต่อบริษัท อ่างแก้ว โฮลดิ้ง จำกัด
ทั้งนี้ หากการนำเสนอแผนและการเจรจาสำเร็จ คาดว่าบริษัท อ่างแก้ว โฮลดิ้ง จำกัด จะเข้าถือหุ้นในสัดส่วนราว 5-10% และจะมีการเจรจากับนักลงทุน Venture Capital และบริษัทเอกชนที่สนใจเข้าร่วมทุนต่อไป ทั้งนี้ หากเป็นไปตามแผนการระดมทุนที่วางไว้
คาดว่ามูลค่าธุรกิจรวมของทั้ง 4 บริษัทจะเพิ่มขึ้นมากกว่า 3,200 ล้านบาท ภายใน 3 ปี ก่อให้เกิดการจ้างงานมากกว่า 500 คน ซึ่งนักศึกษาที่จบออกมาในหลาย ๆ สาขาที่เกี่ยวข้องมีโอกาสในการทำงานมากขึ้น เป็นการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมในพื้นที่ในอนาคต
ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลา 8 ปีที่ผ่านมาอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (STeP) ได้ปลุกปั้นสตาร์ตอัพเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจไปมากกว่า 160 บริษัท
ล่าสุด STeP ได้สร้างแพลตฟอร์มในการปั้น Deep Tech Startup จากงานวิจัยของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยอาจารย์ นักวิจัย นักศึกษาที่ทำงานวิจัยนั้นสามารถถือหุ้นในบริษัทที่ตั้งขึ้นได้
เพื่อเชื่อมโยงกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานนวัตกรรมเชิงพื้นที่ สอดรับกับภารกิจของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในการเป็นมหาวิทยาลัยแห่งการสร้างผู้ประกอบการ
และตอบโจทย์แผนพัฒนาเชียงใหม่เมืองแห่งสตาร์ตอัพ ซึ่งถือเป็นส่วนสำคัญในการยกระดับภูมิภาคและประเทศไทยต่อไป
สำหรับ 4 บริษัทดังกล่าว ได้แก่ 1.บริษัท โนเว็ม อินโนเวชั่น จำกัด นวัตกรรมด้านวิจัยและพัฒนาอุปกรณ์รากฟันเทียม ช่วยลดความเจ็บปวดในการผ่าตัดฝังรากฟันเทียม สามารถใส่รากฟันเทียมแล้วเสร็จได้ในครั้งเดียว ติดตั้งง่าย ลดการบอบช้ำจากการติดตั้งเจ็บน้อยลง เลือดออกน้อยลง
และเมื่อสึกหรอจากการใส่เข้าออกฟันปลอมสามารถเปลี่ยนส่วนหัวได้ทันที โดยไม่จำเป็นต้องรื้อทิ้งดังเช่นอุปกรณ์ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ทั้งยังราคาถูกกว่าและมีอุปกรณ์เสริมที่รองรับกระบวนการผ่าตัดฝังรากเทียมระบบดิจิทัล (digital implant placement) ที่สามารถรองรับการทำงานร่วมกับเครื่องเอกซเรย์ 3 มิติ 3D scanner เครื่องสแกนฟันดิจิทัล 3 มิติ (intraoral scanner)
รวมทั้งเครื่องจักรขึ้นรูปชิ้นส่วนรากเทียมและครอบฟัน (CNC milling machine) มาตรฐานความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์เครื่องมือแพทย์ตามมาตรฐานสหภาพยุโรป ผลงานวิจัยดังกล่าวโดย รศ.ทพ.ดร.ปฐวี คงขุนเทียน คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
โดยมีแผนการตลาดในการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ในกลุ่มอาเซียนและยุโรป สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ราว 21 ล้านบาทต่อปี ซึ่งขณะนี้มีบริษัทเอกชน 3 บริษัทที่แสดงความสนใจเข้ามาร่วมทุน VentureCapital
2.บริษัท สไมล์ ไมเกรน จำกัด เป็นแพลตฟอร์ม AI เพื่อผู้ป่วยไมเกรน ซึ่งผู้ป่วยไมเกรนสามารถใช้แอปพลิเคชั่นบันทึกอาการปวดไมเกรน ซึ่งระบบจะช่วยทำนายและแนะนำวิธีการรักษาเบื้องต้น ผู้ป่วยสามารถหลีกเลี่ยงความเสี่ยงจากสิ่งกระตุ้นและการปรับพฤติกรรมที่ไม่ดีที่อาจจะส่งผลให้ไมเกรนกำเริบได้
โดยแอปพลิเคชั่นนี้พัฒนาการสื่อสารผ่านโซเชียลมีเดียและเป็นชุมชนออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการติดตามอาการปวดศีรษะ วัดระดับความรุนแรงของโรคไมเกรนและปรึกษากับทีมงานที่เชี่ยวชาญได้อย่างสะดวก
โดย Smile Migraine จะสร้างผู้ป่วยให้มีความรู้และความเข้าใจอย่างถูกต้อง จึงเป็นพื้นฐานสำคัญของการเริ่มต้นสังเกตพฤติกรรมตนเองให้ห่างไกลจากโรคไมเกรนได้ดียิ่งขึ้น ผลงานวิจัยโดย ผศ.นพ.สุรัตน์ ตันประเวช คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคระบบประสาทและสมอง
3.บริษัท ลอจิกซ์เอด จำกัด ผลิต GoGo Board ชุดหุ่นยนต์เพื่อการเรียนรู้สำหรับเยาวชน เป็นอุปกรณ์เสริมการเรียนรู้สมองกลฝังตัวเพื่อการเรียนรู้สำหรับเยาวชน เป็นนวัตกรรม Deep Tech
โดยออกแบบชุดเครื่องมือเพื่อการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ออกแบบมาเพื่อให้โรงเรียนสามารถเสริมสร้างศักยภาพด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้กับนักเรียนได้ง่าย
เหมาะสำหรับเยาวชนอายุ 12-18 ปี และบุคคลทั่วไป สามารถสั่งงานด้วยเสียง, การถ่ายรูปจาก Webcam, การควบคุมด้วย Smart Phone, การเชื่อมโยงเครือข่ายสังคม เช่น Facebook, Twitter ได้ด้วย ผลงานวิจัยโดย ดร.อานันท์สีห์พิทักษ์เกียรติ
4.บริษัท อินโนเอดจ์ โกโก จำกัด ผู้ออกแบบแพลตฟอร์มการประเมินความเจ็บปวดในผู้สูงอายุสมองเสื่อม ผู้ผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์สำหรับประเมินความเจ็บปวดในผู้ป่วยสมองเสื่อมในกลุ่มผู้สูงอายุ
โดยใช้นวัตกรรมสร้างสรรค์ด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์มาช่วยวิเคราะห์ ผลงานวิจัยโดย รศ.พญ.ปัทมา โกมุทบุตร นพ.อดิศักดิ์ กิตติสาเรศ และอาจารย์นพพล ชูศรี
ผศ.ดร.ธัญญานุภาพกล่าวต่อว่า บริษัท โนเว็ม อินโนเวชั่น จำกัด จะเป็นบริษัทแรกที่จะนำเข้าอ่างแก้ว โฮลดิ้ง เพื่อพิจารณาร่วมทุนในรูปแบบแปลงมูลค่า IP เป็นทุนในราวเดือนกรกฎาคม 2564 ส่วนอีก 3 บริษัทคาดว่าจะนำเข้าสู่บอร์ดอ่างแก้ว โฮลดิ้ง เพื่อพิจารณาภายในสิ้นปี 2564 นี้
"อ่างแก้ว โฮลดิ้ง" ผงาด ต่อยอดงานวิจัย "บนหิ้ง"
เกือบ 3 ปีที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้นำผลงานวิจัย “บนหิ้ง” ลงมาต่อยอดเชิงพาณิชย์สร้างมูลค่าทางธุรกิจได้อย่างมหาศาล
ศ.ดร.นพ.พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตั้งแต่ปี 2562 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่มุ่งเน้นการนำองค์ความรู้งานวิจัยมาต่อยอดเป็นนวัตกรรมที่สามารถขยายสู่เชิงธุรกิจให้เป็นประโยชน์ต่อภาคเอกชนและอุตสาหกรรม
โดยการจัดตั้ง “บริษัท อ่างแก้ว โฮลดิ้ง จำกัด” ขึ้นมา โดยมีบริษัทลูก 5 บริษัทที่อยู่ในเครือ มีผลประกอบการโดยรวมกว่า 1 ล้านบาท
ได้แก่ 1.บริษัท พลังงานนครพิงค์ จำกัด เน้นธุรกิจด้านพลังงาน การจัดการระบบพลังงาน เช่น biogas 2.บริษัท อ่างแก้ว สตาร์ทอัพ จำกัด (AKS) เป็นพื้นที่แสดงผลงานวิจัยของอาจารย์ผู้ทำวิจัย เป็นเวทีที่จะนำเสนอสินค้าที่สามารถต่อยอดเชิงธุรกิจได้ 3.บริษัท อ่างแก้วไมซ์ จำกัด (AKM)
ประกอบกิจการให้บริการจัดประชุมทั้งภายในองค์กรของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และภายนอกองค์กร โดยใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในมหาวิทยาลัย เช่น ให้นักศึกษาได้ฝึกปฏิบัติงานจริง รวมถึงอาหารและเครื่องดื่มที่ผลิตเอง
4.บริษัท บีเอเอเค จำกัด (BAAK) โดยอ่างแก้ว โฮลดิ้งได้ร่วมทุนกับ Banana ซึ่งเป็นบริษัทด้านไอที ซอฟต์แวร์ที่เป็นผู้ทำระบบหลังบ้านงานวิ่งมาราธอน โดยให้บริการทั้งภายในองค์กรของมหาวิทยาลัยและภายนอกในการวางระบบด้านไอที ซอฟต์แวร์ อาทิ งาน CMU มาราธอน รวมถึงการรับงานอีเวนต์วิ่งในต่างจังหวัดด้วย
5.บริษัท เอเค ไอพี เวนเจอร์ จำกัด (AKIP Venture) ซึ่งเป็นบริษัทที่อ่างแก้ว โฮลดิ้งได้ร่วมทุนกับบริษัท อินเทลเล็คชวล ดีไซน์ กรุ๊ป จำกัด (IDG) ให้บริการจดสิทธิบัตรงานวิจัยที่ได้มาตรฐานและมีความรวดเร็ว ทำให้ผลงานวิจัยมีโอกาสในเชิงพาณิชย์ได้เร็วขึ้น
โดยให้บริการด้านทรัพย์สินทางปัญญาครอบคลุมตั้งแต่ขั้นเริ่มต้นของการวิจัยและพัฒนาจนถึงการดำเนินธุรกิจให้ขยายผลเชิงพาณิชย์และเชิงสังคมได้อย่างเต็มขีดความสามารถ
ศ.ดร.นพ.พงษ์รักษ์กล่าวว่า จากสถานการณ์โควิดตั้งแต่ปี 2563 ถึงปัจจุบัน ได้ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของบริษัทในเครือบ้าง โดยเฉพาะการจัดกิจกรรมหรืออีเวนต์ต่าง ๆ เช่น งาน CMU มาราธอน ต้องชะลอการจัดออกไป รวมถึงการจัดประชุมสัมมนา มีปริมาณงานลดลง
อย่างไรก็ตาม ในช่วง 6 เดือนหลังของปี 2564 ทั้ง 5 บริษัทของอ่างแก้ว โฮลดิ้ง ยังคงต้องเดินหน้าต่อและปรับแผนงานใหม่ให้สอดรับกับสถานการณ์ เช่น บริษัท พลังงานนครพิงค์
เตรียมแผนที่จะผลิตและพัฒนาพลังงานเพื่อตอบสนองตลาดในสภาวะโควิด นอกจากนี้ ยังมองถึงการจัดตั้งบริษัทด้านการออกแบบดีไซน์ล่าสุดได้หารือร่วมกับคณะสถาปัตย์ มช.เพื่อเตรียมจัดตั้งบริษัทเพื่อรับงานออกแบบทั้งภายในองค์กร มช. และภายนอกองค์กรด้วย เป็นอีกหนึ่งบริษัทสตาร์ตอัพที่จะเป็นเวทีให้นักศึกษาได้ฝึกปฏิบัติงานจริง