คณบดีคนใหม่ของคณะนิติศาสตร์ มช. และผู้วิจัย ‘เสรีภาพในการชุมนุม’ ออกคำให้การต่อคดี 37 ผู้ชุมนุมเชียงใหม่จะไม่ทนtoo ยันเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมสาธารณะได้รับการรับรองตามกติการะหว่างประเทศและรัฐธรรมนูญของไทย
1 เม.ย. 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (1 เม.ย.64) เวลาประมาณ 13.30 น. ที่สภ.เมืองเชียงใหม่ นัทมน คงเจริญ ผู้ช่วยศาสตราจารย์และคณบดีคนใหม่ของคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่เพิ่งเข้ารับตำแหน่งเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาเดินทางไปให้ปากคำกับตำรวจ ในฐานะพยานคดีของผู้ชุมนุมเชียงใหม่จะไม่ทนtoo 37 คน ที่ถูกแจ้งความข้อหา 1) ยุยงปลุกปั่น ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116, 2) ฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ 3) ฝ่าฝืน พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ มาตรา 34 (6) คดีนี้มี บัญชา บุญหยุง หัวหน้ากลุ่ม “คนรักแผ่นดินเกิด” เป็นผู้กล่าวหานักศึกษา นักกิจกรรม และคนเสื้อแดงที่เข้าร่วมในการชุมนุมเชียงใหม่จะไม่ทนtoo ที่จัดขึ้นเมื่อกลางปีที่แล้ว (วันที่ 29 ก.ค. 63)
ทั้งนี้ นัทมน เคยทำงานวิจัยศึกษาเรื่อง “เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย” เมื่อ พ.ศ. 2557 และ “บทเรียนและสภาพปัญหาเกี่ยวกับเสรีภาพในการชุมนุม เพื่อการปรับปรุงพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558” ใน พ.ศ. 2562 และขณะนี้กำลังทำการศึกษาวิจัยในเรื่อง “ขอบเขตหน้าที่และอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ รวมทั้งดุลยภาพในการคุ้มครองเสรีภาพในการชุมนุม”
นัทมน ทำความเห็นให้การแก่คดีของผู้ชุมนุมเชียงใหม่จะไม่ทนtoo 37 คน โดยสรุปดังนี้
1. เสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมสาธารณะได้รับการรับรองตามกติการะหว่างประเทศและรัฐธรรมนูญของไทย
เสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมสาธารณะถือเป็นหลักการพื้นฐานสำคัญของสังคมในระบอบเสรีประชาธิปไตยที่ต้องได้รับการคุ้มครอง ในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) มาตรา 19 และมาตรา 21 ได้มีการรับรองเสรีภาพในการแสดงออกทางความคิดเห็นและการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธของบุคคลไว้ ซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ก็ได้รับรองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นนี้ไว้อย่างชัดเจนในมาตรา 34 และมาตรา 44 ที่กำหนดให้บุคคลมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ
การจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมสามารถกระทำได้หากมีกฎหมายตราไว้ หากเป็นการปกป้องความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยสาธารณะ ความสงบเรียบร้อยฯ แต่การจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมสาธารณะจะต้องวางอยู่บนหลักแห่งความได้สัดส่วนและหลักแห่งความจำเป็น เพียงเท่าที่จำเป็นและไม่กระทบถึงสาระสำคัญของเสรีภาพเท่านั้น
2. การใช้อำนาจตาม พ.ร.ก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548
จังหวัดเชียงใหม่เป็นพื้นที่ที่ไม่มีการตรวจพบผู้ป่วยติดเชื้อโควิด 19 มาตั้งแต่วันที่ 12 มกราคม 2564 ย่อมมิได้ตกอยู่ภายในสถานการณ์ฉุกเฉินตามที่พ.ร.ก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ) กำหนดไว้ แต่รัฐบาลกลับใช้วิธีควบคุมโรคโดยการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินครอบคลุมทุกพื้นที่โดยไม่มีการแยกแยะเช่นนี้ ย่อมถือได้ว่าเป็นการกระทำที่มิได้เป็นไปตามเหตุผลของ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ ที่มุ่งหมายให้ประกาศใช้ในสถานการณ์ที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งยวด
นอกจากนี้ภายหลังจากการกิจกรรมการชุมนุมเชียงใหม่จะไม่ทนtoo ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 29 ก.ค. 63 จังหวัดเชียงใหม่ก็มิได้มีรายงานการตรวจพบผู้ติดเชื้อโควิด 19 การจัดการชุมนุมจึงมิได้เป็นสาเหตุของการแพร่ของเชื้อโควิด 19 แต่อย่างใด การบังคับใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ กับผู้ร่วมชุมนุมในกิจกรรมดังกล่าว จึงย่อมเห็นได้ชัดเจนว่าเป็นการมุ่งใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ โดยที่มิได้มีการคำนึงถึงเสรีภาพในการชุมนุมแต่อย่างใด
3. การดำเนินคดีกับผู้ต้องหาในคดีนี้เป็นไปเพื่อปิดกั้นหรือแทรกแซงการใช้เสรีภาพหรือการมีส่วนร่วมของประชาชน (SLAPP: Strategic Lawsuit against Public Participation) หรือไม่
เสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพในการชุมนุมได้รับการรับรองไว้ในกฎหมายระหว่างประเทศและรัฐธรรมนูญของไทย แต่การที่เจ้าหน้าที่รัฐกลับเลือกใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ ซึ่งมีจุดมุ่งหมายในการควบคุมการแพร่กระจายของโรคไวรัสโควิด 19 มาใช้กับการชุมนุมอโดยไม่มีการจำแนกแยกแยะ ประกอบกับการแจ้งข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ซึ่งไม่สอดคล้องกับบทบัญญัติและการตีความตามหลักของกฎหมายอาญา
จึงไม่อาจเข้าใจเป็นอื่นไปได้ นอกจากการเข้าใจว่าการดำเนินคดีที่เกิดขึ้นเป็นไปเพื่อปิดกั้นเสรีภาพของประชาชนในการแสดงความเห็นต่อรัฐบาลหรือ SLAPP อย่างชัดเจน
คำให้การฉบับเต็มของ นัทมน คงเจริญ
1. ความเห็นเกี่ยวกับเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมสาธารณะ ในด้านแนวคิด กฎหมายระหว่างประเทศและรัฐธรรมนูญของไทย
เสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมสาธารณะถือเป็นหลักการพื้นฐานสำคัญของสังคมในระบอบเสรีประชาธิปไตยที่ต้องได้รับการคุ้มครอง
ในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) มาตรา 19 รับรองเสรีภาพในการแสดงออกซึ่งความคิดเห็นของตนได้ตามใจปรารถนา หากบุคคลหลายคนมีความคิดเห็นอย่างเดียวกันย่อมสามารถรวมตัวกันแสดงออกซึ่งความเห็นนั้นๆ ได้ ใน ICCPR มาตรา 21 การชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธต้องได้รับการคุ้มครองเนื่องจากเป็นเสรีภาพสำคัญประการหนึ่ง
รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ก็ได้รับรองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นไว้อย่างชัดเจน ดังนี้
มาตรา 34 บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น การจำกัดเสรีภาพดังกล่าวจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเฉพาะเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ เพื่อคุ้มครองสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อป้องกันสุขภาพของประชาชน
มาตรา 44 บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ
การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยสาธารณะ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อคุ้มครองสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น
การจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมสามารถกระทำได้ในกรณีมีกฎหมายตราขึ้นเพื่อห้ามการกระทำที่กระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยสาธารณะ ความสงบเรียบร้อยฯ อย่างไรก็ตาม การจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมสาธารณะก็จะต้องเป็นไปเพียงเท่าที่จำเป็นและไม่กระทบถึงสาระสำคัญของเสรีภาพดังกล่าว โดยการจำกัดเสรีภาพต้องวางอยู่หลักแห่งความได้สัดส่วน (Proportionality Principle) และหลักแห่งความจำเป็น
2. การใช้อำนาจตาม พ.ร.ก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548
พ.ร.ก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ) เป็นกฎหมายให้อำนาจนายกรัฐมนตรีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งในสถานการณ์ดังกล่าว นายกรัฐมนตรีมีอำนาจสั่งการลัดขั้นตอนปกติ, มีอำนาจออกกฎหมายเพื่อบังคับแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน, และพนักงานเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่ต้องรับผิดตามกฎหมาย นอกจากนี้ สิทธิและเสรีภาพของประชาชนยังถูกจำกัดอย่างกว้างขวาง รวมทั้งการจับกุม คุมขัง ค้นเคหสถาน สิทธิในการเดินทาง แสดงความเห็น และการเสนอข่าว
ทั้งนี้ ตามมาตรา 4 สถานการณ์ฉุกเฉิน หมายถึง “สถานการณ์อันกระทบหรืออาจกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน หรือเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ หรืออาจทำให้ประเทศหรือบางท้องที่ตกอยู่ในภาวะคับขัน หรือมีการก่อการร้าย ซึ่งจำเป็นต้องมีมาตรการเร่งด่วนเพื่อรักษาไว้ซึ่งระบอบการปกครอง เอกราช ผลประโยชน์ของชาติ ความปลอดภัยของประชาชน การป้องปัดหรือแก้ไขความเสียหายจากภัยพิบัติ”
นับตั้งแต่การแพร่กระจายของไวรัสโควิด 19 ได้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2563 และได้ขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินมาอย่างต่อเนื่องโดยในปัจจุบันขยายออกไปถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2564 ด้วยการให้เหตุผลว่าเป็นสถานการณ์ฉุกเฉินที่เป็นภัยคุกคามความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อยของประชาชน ความมั่นคงปลอดภัยด้านสาธารณสุข และระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ กรณีจึงมีความจำเป็นที่จะต้องคงไว้ซึ่งมาตรการที่เข้มข้นและมีประสิทธิภาพในการเฝ้าระวังและสอบสวนโรค รวมทั้งควบคุมการแพร่ระบาดของโรคเพื่อความมั่นคงปลอดภัยทางด้านสาธารณสุขของประเทศ
อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาจากข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นจะพบว่าการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่ครอบคลุมไปทุกพื้นที่โดยไม่มีการแยกแยะ ทั้งที่จากรายงานของหน่วยงานราชการพบว่าในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ไม่มีการพบผู้ป่วยติดเชื้อโควิด 19 มาตั้งแต่วันที่ 12 มกราคม 2564 พื้นที่จังหวัดเชียงใหม่จึงย่อมมิได้ตกอยู่ภายในสถานการณ์ฉุกเฉินตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายดังกล่าว การให้เหตุผลในการประกาศใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ ที่ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ จึงย่อมถือได้ว่าเป็นการกระทำที่มิได้เป็นไปตามเหตุผลของ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ ที่มุ่งหมายให้ประกาศใช้ในสถานการณ์ที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งยวด
นอกจากนั้นแล้ว หากพิจารณาจากการจัดกิจกรรมของทางผู้ต้องหาที่ได้มีการจัดกิจกรรม “เชียงใหม่จะไม่ทน” ขึ้นที่ลานประตูท่าแพในช่วงวันที่ 29 กรกฎาคม 2563 ซึ่งจะพบว่าภายหลังจากการกิจกรรมก็มิได้มีรายงานการติดเชื้อโควิด 19 เกิดขึ้นแต่อย่างใด อันย่อมแสดงให้เห็นว่าในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่มีความปลอดภัยจากโรคระบาดในระดับที่สูง รวมถึงการจัดการชุมนุมก็ไม่ได้เป็นสาเหตุของการแพร่กระจายโรค การบังคับใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ กับผู้ร่วมชุมนุมในกิจกรรมดังกล่าวจึงย่อมเห็นได้ชัดเจนว่าเป็นการมุ่งใช้กฎหมาย พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ โดยที่มิได้มีการคำนึงถึงเสรีภาพในการชุมนุมแต่อย่างใด
3.การดำเนินคดีกับผู้ต้องหาในคดีนี้เป็นไปเพื่อปิดกั้นหรือแทรกแซงการใช้เสรีภาพหรือการมีส่วนร่วมของประชาชน (SLAPP: Strategic Lawsuit against Public Participation) หรือไม่
หากพิจารณาจากความสำคัญของเสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพในการชุมนุมตามที่ได้มีการรับรองไว้ทั้งในกฎหมายระหว่างประเทศและรัฐธรรมนูญของไทย แต่เจ้าหน้าที่รัฐกลับเลือกใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ อันมีความมุ่งหมายสำหรับสถานการณ์ไม่ปกติที่ต้องได้รับการควบคุมอย่างใกล้ชิด ซึ่งในการประกาศใช้ในช่วงเวลานี้ต้องการควบคุมการแพร่กระจายของโรคไวรัสโควิด 19 แต่กลับถูกมาบังคับใช้กับการชุมนุมอย่างไม่มีการจำแนกแยกแยะ ส่วนการแจ้งข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา ก็เป็นการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่สอดคล้องกับบทบัญญัติและการตีความตามหลักของกฎหมายอาญา
ด้วยเหตุผลที่กล่าวจึงย่อมไม่อาจเข้าใจเป็นอื่นไปได้นอกจากการเข้าใจว่าการดำเนินคดีที่เกิดขึ้นเป็นไปเพื่อปิดกั้นเสรีภาพของประชาชนในการแสดงความเห็นต่อรัฐบาลหรือ SLAPP อย่างชัดเจน