“อ.สมชาย” ชี้ภาพคนมอง “ตำรวจ” ใช้กฎหมายชุมนุมฯ กับทุกกิจกรรม นั้น ผิดฝาผิดตัว แนะศาลรัฐธรรมนูญ เร่งวินิจฉัยคดีวิ่งไล่ลุง เพื่อรับรองการใช้สิทธิ – เสรีภาพ การทำกิจกรรมของประชาชน
นายสมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวผ่านเวทีสาธารณะ เรื่อง บทเรียนและสภาพปัญหาจาก พ.ร.บ.การชุมนุมฯ และบทบาทของฝ่ายตุลาการ เพื่อนำเสนอและรับความเห็นต่องานวิจัย เรื่อง ขอบเขตและอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญรวมทั้งดุลยภาพในการคุ้มครองเสรีภาพการชุมนุม โดยมีสาระสำคัญตอนหนึ่งว่า การใช้มาตรการเพื่อยุติการชุมนุมของกลุ่มมวลชนเมื่อวันที่ 20 มีนาคม ตนมองว่าเจ้าหน้าที่ไม่ได้ดำเนินการตามมาตรฐานสากล แม้เจ้าหน้าที่จะระบุว่าเป็นการใช้อำนาจตามพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน แต่พบการปรากฎของภาพที่ทำให้สังคมไม่สบายใจ คือการเข้าถึงตัวผู้ต้องหา ที่เจ้าหน้าที่ไม่มีสิทธิกระทำรุนแรงซ้ำกับผู้ชุมนุม
นายสมชาย กล่าวว่า ขณะที่บทบาทของฝ่ายตุลาการ ปกติต้องใช้เป็นมาตรการสุดท้ายเพื่อจำกัดเสรีภาพการชุมนุม สำหรับศาลรัฐธรรมนูญนั้นตนมองว่ามีบทบาทสำคัญ โดยต้องพิทักษ์และให้ความสำคัญต่อความเข้มแข็งของการใช้สิทธิ เสรีภาพ ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด ส่วนกฎหมายที่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ เช่น พ.ร.บ.การชุมนุมในที่สาธารณะ ว่า กฎหมายที่บัญญัตินั้นกระทบต่อสิทธิเสรีภาพตามที่รัฐธรรมนูญรับรองหรือไม่ ทั้งนี้มีคดีที่มีผู้จัดกิจกรรมวิ่งไล่ลุงเข้าสู่กระบวนการของศาล ทั้งนี้มีคนตั้งข้อสังเกตว่าการใช้กฎหมายชุมนุมกับทุกกิจกรรมสาธารณะคือการใช้แบบผิดฝาผิดตัว ดังนั้นสิ่งที่ศาลรัฐธรรมนูญสามารถทำเพื่อเป็นทางออกสำหรับการใช้สิทธิ เสรีภาพ คือ ต้องพิจารณาถึงลักษณะการชุมนุมตามกฎหมาย หรือ เป็นเพียงกิจกรรมสาธารณะครอบคลุมถึงการกระทำในที่สาธารณะทุกประเภท ซึ่งขัดต่อหลักของการชุมนุมทั่วไปหรือไม่, การจำกัดการชุมนุมสาธารณะที่สามารถทำได้ แต่ต้องมีเหตุผลและได้สัดส่วน รวมถึงทางเลือกอื่นของเจ้าหน้าที่รัฐ ก่อนใช้ตัวเลือกสุดท้ายคือการจำกัดสิทธิเสรีภาพการชุมนุม อีกทั้งควรพิจารณาเรื่องดังกล่าวโดยเร่งด่วน
“ในประเทศไทยกิจกรรมในที่สาธารณะ แต่ไม่ใช่การชุมนุมสาธารณะ แต่การตัดสินของศาลตามกฎหมายไทย ระบุว่าเป็นการชุมนุม ซึ่งผมมองว่าการออกแบบกฎหมายและการตีความกฎหมายไม่สอดคล้อง เช่น การยืนนิ่ง การนำตุ๊กตาแขวนไว้บนต้นไม้ ที่เป็นกิจกรรมแสดงออก ไม่ใช่การชุมนุม หรือกรณีที่มีการจัดแฟลซม็อบ แต่ไม่มีผู้นำชุมนุม เป็นต้น การใช้พ.ร.บ.ชุมนุมในที่สาธารณะถูกมองว่าเป็นการใช้กฎหมายท่ีผิดฝาผิดตัว” นายสมชาย กล่าว.