วันที่ 24 มีนาคม 2564 เวลา 13.30-16.30 น. นายวรพจน์ ประสานพานิช ผู้อำนวยการ ฝ่าย สนับสนุน องค์ ความรู้ และ ระบบ ให้บริการ SMEs สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เป็นผู้แทนจากสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ดร.วีระพงศ์ มาลัย ได้มาเป็นประธานในการเปิดการประชุมรับฟังความคิดเห็นและแนวทางดำเนินงาน “SME Coaching Online 2021” ภายใต้โครงการ Train the Coach ปี 2564 โดยมีผู้แทนจากพาณิชย์จังหวัดเชียงใหม่ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME bank) จังหวัดเชียงใหม่ จากสถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม มหาวิทยาลัยแม่โจ้ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ วิทยากรผู้ประกอบการ สื่อมวลชน ที่ปรึกษาในโครงการ และผู้มีเกียรติที่ร่วมประชุม ณ โรงแรมล้านนา ออเรียนทัล จังหวัดเชียงใหม่
นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า สสว. ได้ดำเนินโครงการ “Train the Coach : Accelerator 4.0” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาผู้เชี่ยวชาญหรือโค้ชด้านธุรกิจและด้านเทคโนโลยี เข้าไปช่วย SME ให้มีความพร้อมและสามารถพัฒนาธุรกิจให้มีการปรับเปลี่ยน (Transforming) ให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงในยุค 4.0 ได้ ซึ่งในปัจจุบันได้เข้าสู่ระยะปีที่ 4 แล้ว โดยมีสถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ISMED) ได้รับมอบหมายให้เป็นหน่วยร่วมดำเนินการ
ในปี 2564 นี้ สสว. ได้เล็งเห็นถึงความจำเป็นในการช่วยเหลือ สนับสนุน และส่งเสริมผู้ประกอบการ SME ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ซึ่งส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการโดยตรง จึงมุ่งเน้นในการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่จะแก้วิกฤติใน 4 ด้านหลัก ได้แก่ 1) ปัญหาทางการเงิน หนี้สิน 2) ปัญหายอดขายตกหรือการเพิ่มประสิทธิภาพบนดิจิตอลมาร์เก็ตติ้ง 3) ปัญหาด้านต้นทุนสูง ส่งผลทำให้ไม่สามารถแข่งขันกับตลาดได้ และ 4) การปรับเปลี่ยน (Transform) โมเดลธุรกิจใหม่เพื่อมองหาโอกาสทางธุรกิจที่มีศักยภาพหลังยุคโควิด เช่น การปรับเปลี่ยนโมเดลในภาคธุรกิจการท่องเที่ยว รวมถึงการมองโอกาสธุรกิจใหม่จากกลุ่มธุรกิจใหม่ๆ ที่ตลาดกำลังเติบโต โดยจะมุ่งเน้นในกลุ่มธุรกิจบริการสุขภาพ ร้านจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม และธุรกิจที่พัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่สามารถนำมาต่อยอดในธุรกิจใหม่หรือในธุรกิจเดิมได้
ด้านนายวรพจน์ ประสานพานิช ผู้อำนวยการฝ่ายสนับสนุนองค์ความรู้และระบบให้บริการSMEs สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ให้สัมภาษณ์ว่า การเปิดการประชุมรับฟังความคิดเห็นและแนวทางดำเนินงาน “SME Coaching Online 2021” ซึ่งเป็นกิจกรรมในโครงการ Train the Coach โดยจัดขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่ มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาโค้ชให้เข้าไปช่วยเหลือ SME ให้มีความพร้อมและสามารถพัฒนาตนเองจนมีการเปลี่ยนแปลงธุรกิจ (Transforming) ให้ทันกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจยุคใหม่ได้ หาก SME ขาดผู้ให้คำปรึกษาแนะนำเพื่อการขับเคลื่อนธุรกิจ ธุรกิจจะเสียโอกาสจากพัฒนาการใหม่ ๆ ที่ช่วยให้ผู้แข่งขันรายเล็กสามารถแข่งขันได้ไม่แพ้รายใหญ่ และกลายเป็นผู้ล้าหลัง ไม่สามารถแข่งขันได้ในที่สุด และได้ดำเนินการต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 4 จากความก้าวหน้างานตลอด 3 ปี มานั้นขณะนี้มีการขึ้นทะเบียนโค้ชทั่วประเทศเข้าสู่ระบบเป็นจำนวนถึง 3,502 ราย กระจายอยู่ทั่วประเทศ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญ มีความสามารถ และมีประสบการณ์ที่เพียงพอในการให้คำปรึกษาและช่วยเหลือ SMEs แก้ไขปัญหาได้ และยังได้มีการเสริมความรู้และประสบการณ์ให้กับโค้ชที่เข้มข้นมากขึ้น
สถานการณ์ปัจจุบัน SME ยังคงประสบปัญหาธุรกิจด้านต่างๆ THE SME COACH ซึ่งเป็นระบบจัดการเครือข่ายโค้ช และให้บริการ SME เข้าถึงโค้ชเหล่านี้ นั้น ทางโครงการให้ความสำคัญกับปัญหาหลัก 4 ด้าน ได้แก่ 1) ปัญหาทางการเงิน หนี้สิน 2) ปัญหายอดขายตกหรือการเพิ่มประสิทธิภาพบนดิจิตอลมาร์เก็ตติ้ง 3) ปัญหาด้านต้นทุนสูง ส่งผลทำให้ไม่สามารถแข่งขันกับตลาดได้ 4) การทรานฟอร์มโมเดลธุรกิจใหม่ เพื่อมองหาโอกาสทางธุรกิจที่มีศักยภาพหลังยุคโควิด
สำหรับจัดการประชุมตลอดวันนี้เมื่อช่วงเช้า เป็นเนื้อหาด้านการพัฒนาระบบเอสเอ็มอีโค้ชชิ่งออนไลน์ด้านเครื่องมือวินิจฉัยธุรกิจ และทางเลือกในการเสนอวิธีแก้ปัญหาด้านต่างๆ ให้แก่โค้ชทั่วประเทศที่อยู่บนระบบ สามารถนำมาใช้งานได้ในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ โดยทางโครงการนำฐานข้อมูลในระบบย้อนหลังของการวินิจฉัย วิธีการแก้ไขด้านธุรกิจกว่า 1,000 ราย มาวิเคราะห์และจัดทำเป็นระบบ
และนำผู้เชี่ยวชาญ หรือ โค้ชที่ปรึกษาธุรกิจที่เชี่ยวชาญเฉพาะทางมาตรวจสอบ และร่วมวางกรอบแนวทาง การวินิจฉัย และวิธีการแก้ปัญหาเฉพาะทางนั้นๆ เพื่อให้เกิดความแม่นยำ และมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้โครงการจะมีการจัดกิจกรรมรับฟังความคิดเห็นในประเด็นเหล่านี้ กับจากโค้ชในพื้นที่อื่นๆ ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ วันที่ 24 มีนาคม 2564, จังหวัดภูเก็ต วันที่ 26 มีนาคม 2564, จังหวัดนครราชสีมา วันที่ 31 มีนาคม 2564 และ กรุงเทพมหานคร วันที่ 2 เมษายน 2564
สำหรับภาคบ่ายนี้ เป็นการรับฟังและระดมความคิดเห็น จากหน่วยงานทั้งรัฐและเอกชนในพื้นที่ ซึ่งจะเป็นผู้ใช้ประโยชน์โดยตรงจาก โค้ชต่างๆ เหล่านี้ต่อไป จึงใคร่ขอเชิญร่วมกันแนะนำ บ่งบอกความต้องการต่างๆในการที่จะนำโค้ชเหล่านี้ไปใช้ประโยชน์ในงานพัฒนา SME ของหน่วยงานท่านต่อไปในอนาคต
สสว. หวังเป็นอย่างยิ่งว่าการประชุมในวันนี้จะเป็นประโยชน์สำหรับหน่วยงานต่างๆที่มาเข้าร่วมวันนี้ ที่เราจะได้นำข้อแนะนำต่างๆ เหล่านี้มาใช้ในการพัฒนาปรับปรุงต่อไป รวมถึงโค้ชและผู้ประกอบการที่เข้าร่วม ได้เกิดมุมมองใหม่ๆและนำไปใช้ในการปฏิบัติงานตนเองได้ ขอขอบคุณโค้ชทุกท่านที่ได้ให้ความสนใจ มุ่งมั่นที่จะพัฒนาตัวเอง และมีใจที่จะช่วยเหลือ SMEs ต่อไป