เผยแพร่:
ปรับปรุง:
เชียงใหม่ – ดาวเทียมพบจุดความร้อนเชียงใหม่ 153 จุด เพิ่มจากวานนี้เป็นกว่า 3 เท่าตัว ส่วนใหญ่เป็นการลุกลามจากจุดเดิม ต้องระดม จนท.เข้าทำการดับต่อเนื่องทั้งเดินเท้าเข้าพื้นที่และจัดเฮลิคอปเตอร์บินโปรยน้ำ ขณะที่ฝุ่นควันยังคลุมเมืองค่าเกินมาตรฐานกระทบสุขภาพ
วันนี้ (21 มี.ค. 64) สถานการณ์ฝุ่นควันไฟป่าและคุณภาพอากาศของจังหวัดเชียงใหม่ยังคงเกินค่ามาตรฐานต่อเนื่อง โดยตัวเมืองเชียงใหม่เริ่มกลับมาถูกฝุ่นควันคลุมหนาทึบขึ้นอีกหลังจากเจือจางลงไปบ้างในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา ทั้งนี้ ผลการตรวจวัดคุณภาพอากาศจากสถานีของกรมควบคุมมลพิษในตำบลช้างเผือก, ตำบลศรีภูมิ และตำบลสุเทพ อำเภอเมืองฯ จังหวัดเชียงใหม่ พบค่าฝุ่น PM 2.5 เฉลี่ยในรอบ 24 ชั่วโมง ณ เวลา 09.00 น.วันนี้อยู่ที่ 69, 71 และ 56 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ตามลำดับ เกินค่ามาตรฐาน 50 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ส่วนดัชนีคุณภาพอากาศอยู่ที่ 147, 152 และ 114 เกินค่ามาตรฐาน100 อยู่ในระดับที่เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ
โดยเช้าวันนี้ดาวเทียมเวียร์ มีรายงานตรวจพบจุดความร้อนในภาคเหนือ 640 จุด เพิ่มสูงขึ้นจากเมื่อวานนี้ที่ช่วงเช้าที่มีอยู่ 287 จุด โดยเฉพาะจังหวัดเชียงใหม่เช้าวันนี้เกิดจุดความร้อน 153 จุด เพิ่มขึ้นจากเช้าวานนี้ที่มีอยู่ 49 จุด เป็นกว่า 3 เท่าตัว และเป็นจุดที่ลุกลามจากพื้นที่ที่เกิดไฟไหม้เดิมถึง 57 จุด ทั้งหมดอยู่บนภูเขาสูง ลาดชัน บางจุดเป็นเหวลึก ยากต่อการเข้าดับไฟ เพราะต้องใช้วิธีเดินเท้าเป็นเวลานาน กว่าจะถึงจุดเกิดไฟไหม้ก็ลุกลามเป็นวงกว้างแล้ว โดยที่อำเภอเชียงดาวตรวจพบจุดความร้อนมากที่สุด 33 จุด รองลงมาคือ อำเภอพร้าว 32 จุด และอำเภอแม่แตง 29 จุด ซึ่งที่อำเภอแม่แตงนี้เป็นพื้นที่ที่ลามจากช่วงบ่ายวานนี้มากถึง 19 จุด
ขณะที่ อำเภอพร้าว พบเป็นจุดที่ลุกลามจากเมื่อวานนี้ 9 จุด โดยจุดที่น่าเป็นห่วงคือในเขตอุทยานแห่งชาติศรีลานนา พื้นที่ตำบลแม่ปั๋ง ที่พบจุดความร้อน 11 จุด บนหน้าผาและสูงชัน ยากต่อการเดินทางเข้าดับไฟ บางจุดไหม้ลุกลามมาแล้วหลายวัน ซึ่งศูนย์บัญชาการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) จังหวัดเชียงใหม่ ได้จัดส่งเฮลิคอปเตอร์ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 2 ลำ ขึ้นบินโปรยน้ำดับไฟในบริเวณป่าห้วยหนองมอก หมู่ 8 บ้านห้วยทราย ตำบลแม่ปั๋ง และพื้นที่รอยต่อของตำบลแม่ปั๋งกับตำบลแม่หอพระ อำเภอพร้าว เพื่อช่วยบรรเทาความรุนแรงของเชื้อไฟ ก่อนให้เจ้าหน้าที่ดับไฟภาคพื้นดินเข้าดับไฟให้สนิทอีกครั้ง