แม้ไม่ปรากฏว่าเริ่มสร้างขึ้นมาตั้งแต่สมัยใด แต่มีเรื่องเล่าขานกันมาว่าเจดีย์วัดกู่เต้าน่าจะสร้างขึ้นมาในสมัยที่พม่าครอง เมืองเชียงใหม่และอาณาจักรล้านนาทั้งหมด โดยเจดีย์ทรงกลมที่เห็นนี้เป็นที่บรรจุอัฐิของพระเจ้าเม็งชานรธามังดุย ซึ่งเคยยกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยาตามพระบัญชาของพระมหาอุปราชานันทบุเรง ซึ่งเป็นพระเชษฐาต่างมารดาและ เป็นกษัตริย์พม่าในสมัยนั้น แต่ถูกพระนเรศวรตีแตกพ่ายและยอมสวามิภักดิ์ในเวลาต่อมา และถูกตัดขาดจากพระเจ้านันทบุเรง ทำให้พระองค์ไม่อาจกลับคืนมาตุภูมิได้ จนกระทั่งสิ้นพระชนม์ที่เมืองเชียงใหม่ในปี พ.ศ. 2156 พระมหามังชวยเทา ผู้เป็นพระอนุชาได้จัดถวายเพลิงพระศพ และโปรดให้สร้างสถูปเจดีย์กู่เต้า เพื่อบรรจุอัฐิและพระอังคารธาตุ จากนั้นโปรดให้สร้างวัดขึ้นมาในบริเวณดงไผ่ แล้วตั้งชื่อว่าวัดเวฬุวันกู่เต้า ที่ชาวบ้านเรียกกันสั้น ๆ เพียงว่า “วัดกู่เต้า” และปัจจุบันวัดนี้ก็มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า “วัดเวฬุวันวนาราม” สำหรับเจดีย์กู้เต้าองค์นี้มีลักษณะแปลกกว่าเจดีย์ล้านนาอื่น ๆ กล่าวคือ เจดีย์แต่ละชั้นจะมีซุ้มจระนำประดิษฐาน พระพุทธรูปปางต่าง ๆ ทั้ง 4 ด้าน มีการนำกระจกสีมาประดับเป็นรูปดอกไม้เล็ก ๆ อย่างประณีต อย่างไรก็ตาม มีการสันนิษฐานว่าเดิมองค์เจดีย์น่าจะเป็นแค่ปูนเกลี้ยง ๆ การนำกระเบื้องมาประดับบนเจดีย์นั้น น่าจะเกิดขึ้นภายหลังเมื่อครั้งมีการบูรณะในสมัยรัชกาลที่ 5 เนื่องจากการนำกระเบื้องสีของถ้วยชามมาประดับ เป็นลวดลายตามวัด ถือเป็นความนิยมในยุคกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ในสมัยที่ไทยมีการติดต่อค้าขายกับประเทศจีน นอกจากนี้ ส่วนยอดของเจดีย์กู่เต้านั้น มีเจดีย์สีทององค์เล็กและปลายยอดเจดีย์ประดับด้วยฉัตร ลักษณะของศิลปะแบบพม่าดูงดงามไม่น้อยทีเดียว ที่ตั้ง : ตั้งอยู่ที่ตำบลศรีภูมิ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่