เผยแพร่:
ปรับปรุง:
เชียงใหม่ – ผู้ว่าฯ เชียงใหม่นำทีมบินสำรวจติดตามสถานการณ์หมอกควัน ไฟป่าพื้นที่ห่างไกล 2 อำเภอ พร้อมมอบนโยบายให้ทุกภาคส่วนเกี่ยวข้องเน้นย้ำแนวทางรับฟังปัญหาจากพื้นที่และบริหารจัดการเชื้อเพลิงอย่างเป็นระบบ ตั้งเป้าลดพื้นที่ป่าถูกเผาและฮอตสปอตลงจากปีก่อน 25% เบื้องต้นพบเฉพาะช่วงที่ผ่านมาของปีนี้ลดลง 50% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
นายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วย นายณัฐพล นราดิศร รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ และ นายสมบูรณ์ ธีรบัณฑิตกุล ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเชียงใหม่ ลงพื้นที่ติดตามและประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาหมอกควัน ไฟป่า และฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ในพื้นที่อำเภอเวียงแหง และอำเภอกัลยาณิวัฒนา จังหวัดเชียงใหม่ โดยได้มีการมอบนโยบาย สร้างความรู้ความเข้าใจ และรับฟังปัญหาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาหมอกควัน ไฟป่า และฝุ่นละออง โดยการบริหารจัดการเชื้อเพลิงอย่างเป็นระบบ นอกจากนี้ ได้มีการขึ้นเฮลิคอปเตอร์สำรวจสภาพพื้นที่และสถานการณ์หมอกควัน ไฟป่าในพื้นที่ดังกล่าวอีกด้วย
ทั้งนี้ ในปีที่ผ่านมาจังหวัดเชียงใหม่ได้ประสบปัญหาหมอกควัน ไฟป่า และฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ในพื้นที่เป็นอย่างมาก โดยมีจุดฮอตสปอตเกิดขึ้นกว่า 22,000 จุด และได้เผาพื้นที่ป่าไปกว่า 1,380,000 ไร่ ซึ่งเกิดมากที่สุดในช่วงเดือนมีนาคมของทุกปี ดังนั้น จังหวัดเชียงใหม่จึงได้บูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อที่จะร่วมกันแก้ไขปัญหาดังกล่าว พร้อมตั้งเป้าหมายปีนี้ให้มีจุดฮอตสปอตลดลงจากปีที่ผ่านมาให้ได้ร้อยละ 25 และจะต้องพยายามควบคุมสถานการณ์ฝุ่นควันให้อยู่ในเกณฑ์สีเหลือง หรือไม่เกินสีส้มเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อพี่น้องประชาชน ซึ่งจากผลสำรวจพบว่าตั้งแต่ที่จังหวัดเชียงใหม่ได้เริ่มต้นแก้ไขปัญหาดังกล่าว เริ่มตั้งแต่เดือนมกราคม 2564 เป็นต้นมา เป็นระยะเวลากว่า 1 เดือน พบว่ามีจุดฮอตสปอตเกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ประมาณ 900 จุด ในขณะที่ช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมานั้นมีจุดฮอตสปอตเกิดขึ้นกว่า 2,000 จุด ดังนั้น เมื่อเทียบกันแล้วจะเห็นได้ว่าในปีนี้มีจุดฮอตสปอตลดลงกว่าร้อยละ 50 ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องที่ดีเป็นอย่างยิ่ง
สำหรับการวางแผนในการบริหารจัดการเชื้อเพลิงของจังหวัดเชียงใหม่นั้น ได้แบ่งพื้นที่บริหารจัดการออกเป็น 2 โซน คือ พื้นที่โซนเหนือ และโซนใต้ของจังหวัด โดยทางโซนใต้ของจังหวัดนั้นได้กำหนดให้ดำเนินการบริหารจัดการเชื้อเพลิงในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2564 ส่วนโซนเหนือ จะดำเนินการในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน 2564 โดย 2 อำเภอที่ลงพื้นที่ในวันนี้ คือ อำเภอเวียงแหง และอำเภอกัลยาณิวัฒนา อยู่ในพื้นที่ทางโซนเหนือ ดังนั้นก็จะเริ่มดำเนินการบริหารจัดการเชื้อเพลิงตั้งแต่เดือนมีนาคมเป็นต้นไป โดยผู้ที่จะเผาวัสดุทางการเกษตรนั้นจะต้องแจ้งต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ให้รับทราบ พร้อมกับลงทะเบียนในระบบ เพื่อที่จะสามารถจัดลำดับการเผาได้อย่างลงตัว
จังหวัดได้กำหนดช่วงเวลาในการเผาในแต่ละวันไว้ คือ เวลา 11.00-17.00 น. ทั้งนี้ กำชับให้หมู่บ้านและตำบลในแต่ละพื้นที่เร่งรัดในการลงทะเบียนและแจ้งข้อมูลของผู้ที่ประสงค์จะทำการเผาเศษวัสดุทางการเกษตรให้ทางจังหวัดได้ทราบโดยเร็ว เพื่อที่จะเร่งรัดการบริหารจัดการเชื้อเพลิงให้เป็นไปตามแผนการที่กำหนดไว้ ขณะเดียวกัน ก็ได้เน้นย้ำให้เจ้าหน้าที่ในสังกัดของสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมฯ คอยประสานงานกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่เข้าไปคอยดูแลการดำเนินการอย่างใกล้ชิด เพื่อให้การเผาเป็นไปอย่างเรียบร้อย และไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่อื่นๆ